กระทรวงสาธารณสุข เผยสารไอโอดีนทำให้สมองเจริญเติบโต หากขาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงช่วงปฐมวัย จะทำให้ระดับสติปัญญาของเด็กลดลงได้ถึง 10- 15 จุด บูรณาการ 4กระทรวง ขับเคลื่อนการผลิต การกระจายและการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ด้วยประชารัฐ เพื่อขจัดโรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างยั่งยืน สู่ เป้าหมายชาติ 20 ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

      ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าสภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders) ได้ทูลเกล้าถวายเหรียญทอง ICCIDD แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 จากพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหาและพระราชทานแนวทางการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ นอกจากนี้  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2534 ส่งผลให้โรคขาดสารไอโอดีนลดลงอย่างมาก

     อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังคงเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ แม้ว่าแนวโน้มความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนจะดีขึ้น แต่ค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความต้องการไอโอดีนมากกว่าปกติ ยังคงมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 150 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยสถานการณ์ปี พ.ศ. 2558 พบ 143.7 ไมโครกรัมต่อลิตร ไอโอดีนมีความสำคัญในการผลิตธัยรอยด์ฮอร์โมนซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะเซลล์สมองของทารกตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 2-3 ปี หากขาดสารไอโอดีนจะทำให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลดความเฉลียวฉลาด (ไอคิว) หรือระดับสติปัญญาของเด็กได้ถึง 10-15 จุด ผลการสำรวจระดับไอคิวของเด็กไทยโดยกรมสุขภาพจิต พบว่าปี 2554 เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 มีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 94 จุด และในปี พ.ศ.2557 อยู่ที่ 93.1 จุด ลดลง 0.9 จุด

          ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการหลัก คือการใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ประชาชนบริโภควันละไม่เกิน 1 ช้อนชา ก็จะได้ไอโอดีน 150 ไมโครกรัมซึ่งเพียงพอต่อความต้องการต่อวัน มาตรการเสริม ได้แก่ 1.การจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีน เหล็กและกรดโฟลิกแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกรายตลอดการตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด 6 เดือนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2.มาตรการเสริมไอโอดีนในน้ำดื่ม ในโรงเรียน 733 แห่ง ในพื้นที่ห่างไกลยากแก่การเข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี                                                           

          และมาตรการสู่ความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาระบบเกลือเสริมไอโอดีนอย่างยั่งยืนโดยการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ 3 ส่วน คือ การผลิตที่เพียงพอ ทั่วถึงครอบคลุมและมีคุณภาพ การกระจายที่ต้องมีระบบการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังเกลือที่กระจายไปสู่ร้านค้า ชุมชน ต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเท่านั้น  สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องมีความรู้ และเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับการได้รับสารไอโอดีนจากการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและ

ภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเชื่อมต่อระบบการผลิต การกระจายและการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนให้ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประชาชนให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายชาติ20ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

**********************************  25 มิถุนายน 2559

 

 

 

 

 

 



   
   


View 17    25/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ