“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยปีตั้งแต่ ต้นปี -27 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าจำนวน 20,777 คน เกือบร้อยละ 73 เป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี แนะครู ผู้ปกครอง ดูแลความสะอาดเครื่องใช้ ห้องน้ำห้องส้วม ตรวจดูอาการเด็กทุกวัน หากพบมีไข้ มีตุ่มแดงขึ้นในปาก ที่ฝ่ามือ ไม่คัน ขอให้สงสัยไว้ก่อน และแยกเด็กป่วย ให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากเด็กที่ป่วยอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน ซึมลง ให้รีบพาไปพบแพทย์ด่วน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559-27 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยโรคมือเท้า 20,777 คน จาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเกือบร้อยละ 73 เป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งเสริมการระบาดของโรคมือเท้าปากนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศ และการละเลยการล้างมือ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีฝนตกชุก เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ขอความร่วมมือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่ ดำเนินการป้องกันควบคุมโรค ตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีเด็กป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ฝากครู ผู้ปกครองวิธีป้องกันที่ดีคือรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลางและไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลดำเนินการดังนี้ 1.ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจําทุกวันในตอนเช้า 2.แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ โดยให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน 3.หลีกเลียงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติ และเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้าน 4.ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรก ปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ ก่อนรับประทานอาหารหลังเข้าห้องส้วม ก่อนและหลังทํากิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ทําความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น เป็นประจําทุกสัปดาห์ และทุกครั้งที่พบมีเด็กป่วย 5.หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรคมือ เท้า และปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดง ตุ่มพองใสรอบๆ แดงที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า โรคนี้รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ กระตุ้นให้รับประทานอาหาร ให้อาหารเหลวหรืออาหารที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ไอศกรีม ให้ยาทาแผลในปาก เป็นต้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5-7 วัน แม้โรคนี้ป่วยแล้วสามารถหายได้เอง แต่มีผู้ป่วยบางราย ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยง หมั่นสังเกตอาการของเด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปาก หากป่วย 2-3 วันแล้ว อาการแย่ลงคือไข้สูงขึ้น และมีอาการเหม่อตาลอย ผวา ชัก หรือซึมลง ให้รีบพบแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
*************************** 3 กรกฎาคม 2559