คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ พิจารณาและเห็นชอบร่างอนุบัญญัติ 6 ฉบับ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กรณีเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะขนส่ง คน สัตว์ หรือสิ่งของจากเขตติดโรคเข้ามาในประเทศแล้วพบว่าป่วยหรือมีเหตุสงสัยเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมและผู้เดินทาง ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งการกักกัน ค่าเลี้ยงดู ค่าป้องกันควบคุมโรค และค่ารักษา

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 5/2559 และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อร่างอนุบัญญัติ 6 ฉบับเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้แก่ ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ คือ ร่างประกาศระเบียบฯ ว่าด้วยการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทน ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กรณีที่ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่ง พ.ศ. .... ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการ กำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ผู้เดินทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย พ.ศ. ....

ร่างประกาศ/ร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ 3 ฉบับคือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา การเฝ้าระวัง การป้องกัน การควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด พ.ศ. ....  ร่างประกาศฯว่าด้วยวิธีการอื่นใดซึ่งผู้มีหน้าที่ รับผิดชอบช่องทางเข้าออกต้องปฏิบัติเพิ่มเติม พ.ศ. .... และร่างระเบียบฯ หลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยสาระสำคัญของร่างอนุบัญญัติ เมื่อรัฐมนตรีประกาศให้ท้องที่หรือเมืองใดเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  ต้องมีการดำเนินการดังนี้ 1.ในกรณีที่พาหนะที่มาจากท้องที่หรือเมืองท่าดังกล่าวนำบุคคลที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด นำสัตว์ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นพาหะนำโรคหรือนำวัตถุ สิ่งของ หรือเครื่องใช้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นสิ่งติดโรคเข้ามาราชอาณาจักร แล้วเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศได้ดำเนินการเองหรือออกคำสั่ง เป็นหนังสือให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะดำเนินการตามมาตรา 40 หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

 2.กรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด หรือเป็นพาหะนำโรค แล้วเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ได้ออกคำสั่งให้คุมไว้สังเกต กักกัน หรือแยกกักผู้เดินทางนั้นหรือมีคำสั่งให้ผู้เดินทางนั้นรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าวให้ผู้เดินทางผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบตามจำนวนที่ได้จ่ายจริง 3.ส่วนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบช่องทางเข้าออก ให้ปฏิบัติตามวิธีการ เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในบริเวณช่องทางเข้าออก  โดยจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมอาหารและน้ำให้ถูกสุขลักษณะ จัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  กำจัดยุง และพาหะนำโรค ทั้งนี้ ผู้มีหน้าทีรับผิดชอบช่องทางเข้าออกต้องรายงานผลการดำเนินงาน และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องต่อคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกด้วย

**********************  11 กรกฎาคม 2559



   
   


View 18    11/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ