กระทรวงสาธารณสุขจับมือภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และมาตรการพัฒนาการควบคุมยาสูบ ตั้งเป้าลดการตายก่อนวันอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยการลดอัตราการบริโภคยาสูบลงอย่างน้อยร้อยละ30 ภายในปี 2568 เน้นมาตรการ 3 ลด 2 เพิ่มคือ ลดนักสูบหน้าใหม่ ลดจำนวนผู้สูบเดิมในชนบท ลดควันบุหรี่มือสอง เพิ่มผู้ขับเคลื่อนระดับพื้นที่ พัฒนาระบบบริการและเพิ่มบริการเชิงรุกเพื่อช่วยเลิกบุหรี่

วันนี้(14 กรกฎาคม 2559)ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559-2562) และการดำเนินงานเพื่อควบคุมยาสูบระดับจังหวัด แก่ผู้บริหารและผู้ปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศกว่า 100 คน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ในประเทศไทยทวีความรุนแรง โดยเฉพาะอายุของนักสูบหน้าใหม่ที่ลดน้อยลงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม อย่างกว้างขวาง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 พบว่าจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 54.8 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 10 ล้านคน และเป็นผู้ที่สูบบุหรี่นานๆครั้ง 1.4 ล้านคน อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำคือ 17.8 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่เป็นปกตินิสัยคือ 19.5 ปี เมื่อเทียบกับปี 2550 พบว่าทุกกลุ่มวัยมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลงค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น คือจากปี 2550 เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 16.8 ปี และในปี 2557 เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 15.6 ปี
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการในการควบคุมยาสูบ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสร้างความมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่องในระดับพื้นที่ ที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการควบคุมยาสูบ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ(Sustainable Development Goals-SDGs) ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก                 (WHO FCTC) ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายลดการตายก่อนวันอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สอดคล้องกับเป้าหมาย The 9 global targets for NCD : 2025 ที่ต้องลดอัตราการบริโภคยาสูบลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2568
ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ  พ.ศ. 2559–2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักถึงภาวะเสพติดและพิษภัยร้ายแรงของยาสูบ ป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพหน้าใหม่ เฝ้าระวังธุรกิจยาสูบและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติฯ สู่การปฎิบัติในระดับพื้นที่ที่สำคัญ คือความร่วมมือของทุกจังหวัดที่มีร่วมดำเนินการควบคุมยาสูบไปพร้อม ๆ กัน โดยเน้นมาตรการ 3 ลด 2 เพิ่มคือ ลดนักสูบหน้าใหม่ ลดจำนวนผู้สูบเดิมในชนบท  ลดควันบุหรี่มือสองที่ทำงาน ที่สาธารณะ และที่บ้าน และเพิ่มผู้ขับเคลื่อนระดับพื้นที่ จังหวัดและท้องถิ่น พัฒนาระบบบริการและเพิ่มบริการเชิงรุกเพื่อช่วยเลิกบุหรี่
 ************************************** 14 กรกฎาคม 2559


   
   


View 16    14/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ