จากกรณีที่พบผู้ป่วยอายุ 2 ปี 10 เดือน จังหวัดแพร่ เริ่มป่วยด้วยอาการไอ และมีน้ำมูกใส เข้ารับการรักษาที่คลินิกแต่อาการไม่ทุเลา เด็กมีประวัติสัมผัสกับญาติที่ป่วยเป็นวัณโรค จากนั้นจึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเด่นชัยผลการตรวจพบว่ามีการติดเชื้อที่ปอดข้างขวา แพทย์วินิจฉัยเป็นวัณโรค    

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้างต้นว่า จากการสอบสวนของทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วพบ ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ เบื้องต้นตรวจคัดกรองผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงราย จำนวน 4 คน คือมารดา บิดา ตา และยาย โดยผลการเอ็กซ์เรย์ปอดปกติ คัดกรองผู้สัมผัสร่วมชั้นเรียนทั้งหมด 20 คน เป็นเพื่อนร่วมชั้น 16 คน ครูประจำชั้น 2 คน และบุตรของครูประจำชั้น 2 คน มีอาการสงสัย 4 คนอยู่ระหว่างการรอผลตรวจ และได้ให้ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในโรงเรียน พร้อมทั้งให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ร่วมกับโรงเรียน จัดประชุมชี้แจงผู้ปกครองเด็กในชั้นเรียน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องวัณโรค การรักษา การป้องกันและจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน  

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบ และก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจนถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายที่สุดก็คือกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า ปี จากสถิติของสำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2558 ทั่วประเทศพบเด็กอายุ 0-5 ปี ป่วยเป็นวัณโรค 62 คน โดยเมื่อเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีรับเชื้อวัณโรคจะป่วยเป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่ผู้ใหญ่มีโอกาสป่วยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้นหากบุคคลใกล้ชิดในบ้านป่วยเป็นวัณโรค ต้องพาเด็กในบ้านหรือเด็กที่สัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจวินิจฉัยวัณโรค และหากยังไม่ป่วยก็จะได้รับยาป้องกันการป่วยเป็นวัณโรค

ทางด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า  มัยโคแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) เด็กที่เป็นโรคนี้ส่วนมากจะติดจากผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นวัณโรค ทางการไอ จาม หรือหายใจรดกัน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ร่างกายแข็งแรง หากได้รับเชื้อร่างกายจะควบคุมเชื้อวัณโรคได้ แต่สำหรับเด็กเล็กซึ่งมีภูมิคุ้มกันไม่เท่าผู้ใหญ่ หรือขณะที่ได้รับเชื้อมีร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวก็จะทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้ง่าย ซึ่งจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร โดยอาการทางปอดอาจไม่เด่นชัดนัก บางรายอาจจะมีก้อนที่คอจากต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น หรือท้องใหญ่ขึ้นจากการที่มีตับหรือม้ามโต

สำหรับการป้องกันโรคนี้คือ หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปตามแหล่งชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หากสมาชิกในบ้านเป็นวัณโรค ให้พาลูกไปพบแพทย์ทันทีไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ เพราะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ปี จะรับเชื้อได้ง่าย แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัย รักษาและให้ยาป้องกันโรคได้ทันท่วงที การให้วัคซีนบีซีจี (BCG) ตั้งแต่แรกเกิด แม้จะสามารถช่วยป้องกันวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ยังมีโอกาสเป็นวัณโรคได้ นอกจากนี้ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่ได้ผลดี โดยให้ยาร่วมกันหลายชนิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดอัตราการดื้อยา ที่สำคัญคือต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน และดูแลให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและมีวิตามินบีสูง

 

 

                                       ************************** 17 กรกฎาคม 2559

 



   
   


View 15    17/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ