กระทรวงสาธารณสุข เผยพบสถิติ 10 ปี เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ยังจมน้ำเสียชีวิต 10,923 คน เฉลี่ยเดือนละ 91 คนมากกว่าเด็กที่เป็นไข้เลือดออก จุดเกิดเหตุส่วนมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ ถังน้ำ กะละมัง ตุ่มน้ำในบ้าน เตือนระวังเด็กเล็กควรใส่ใจกำหนดพื้นที่เล่น สอนเด็กให้รู้และเน้นไว้ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ส่วนเด็กโต แนะฝึกให้ว่ายน้ำให้เป็น ช่วยเหลืออย่างถูกวิธีเอาตัวรอดได้

 วันนี้(18 กรกฎาคม 2559) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า อุบัติเหตุของเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำในแต่ละปีประมาณ 372,000 คน มากกว่าร้อยละ 50 อยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุอันดับที่ 3 รองจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเอดส์ สำหรับในประเทศไทย พบเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 มากกว่าเด็กที่เป็นไข้เลือดออก และจากการจราจร ซึ่งในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาระหว่าง พ.ศ.2549-2558 มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจำนวน 10,923 คน เฉลี่ยเดือนละ 91 คน ส่วนมากเกิดจากการลงไปเล่นน้ำหรือพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อขุด อ่างน้ำ เพราะบ่อน้ำมักจะมีลักษณะที่ลาดชันและลึก ซึ่งบางแห่งไม่มีการสร้างรั้วหรือติดป้ายหรือมีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ

 นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตพบว่ากว่า 400 ราย อายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจมน้ำ ในแหล่งน้ำที่อยู่ในบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง ตุ่มน้ำ อ่างน้ำ บ่อเลี้ยงปลา ดังนั้นผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ต้องใส่ใจและสอนเด็ก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” อย่าเข้าไปใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ อย่าเก็บ เมื่อเห็นสิ่งของตกลงไปในน้ำอย่าเก็บของต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บให้ และอย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มไปในภาชนะ ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก 3 ข้อ คือ 1.ดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตาแม้เพียงชั่วขณะ เช่น ขณะทำงานบ้าน โทรศัพท์ เปิด-ปิดประตูบ้าน 2.จัดการแหล่งน้ำที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ เช่น เทน้ำทิ้งหลังการใช้งาน ปิดฝาตุ่ม/ถังน้ำที่บรรจุน้ำไว้ ล้อมรั้วบ่อน้ำ สร้างประตูกั้น และ3.กำหนดพื้นที่เล่นให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-2 ปี สร้างคอกกั้นความสูงอย่างน้อย 51 เซนติเมตรขึ้นไป คอกกั้นแบบมีซี่ราว ต้องมีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร คอกเป็นแนวตั้งเพื่อไม่ให้เด็กสามารถปีนได้ และเป็นวัสดุ    ที่ปลอดภัย

(ภาพจากกู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา)

          ส่วนเด็กอายุระหว่าง 5-14 ปี มีประมาณ 8.3 ล้านคน พบว่ายน้ำเป็นประมาณ 2 ล้านคน และมีเพียง 3 แสนกว่าคนที่มีทักษะในการเอาชีวิตรอดได้ คือเมื่อประสบเหตุตกน้ำ สามารถลอยตัวเพื่อรอความช่วยเหลือได้รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนหลักสูตรถึง 21 เท่าตัว และมีทักษะการช่วยเหลือเด็กที่ตกน้ำหรือจมน้ำได้ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนมากถึง 3 เท่าตัว ดังนั้นมาตรการป้องกันคือ “ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือปฐมพยาบาล จัดการแหล่งน้ำเสี่ยง”

(ภาพจากู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา)

           ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการป้องกันการจมน้ำ โดยได้ส่งเสริมการสร้างทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker) ตั้งแต่ปี 2558 ใช้แนวทางประชารัฐ ภาครัฐ เอกชน จิตอาสา ชุมชนและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ตนเอง ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ได้แก่ การกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการ การนำข้อมูลมาช่วยแก้ไขปัญหา การจัดการแหล่งน้ำที่เสี่ยงเกิดเหตุ การดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้คำแนะนำแก่ครูพี่เลี้ยงและจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยการให้ความรู้ในสถานบริการสาธารณสุขแก่ผู้ปกครอง เช่น เดียวกับการให้วัคซีน การส่งเสริมหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด การฝึกช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการศึกษาวิจัย/ติดตามประเมินผลต่อไป จากการประชุมในเวทีผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ครั้งที่ 3 ที่ประเทศศรีลังกา พบว่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญในการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำต้องเกิดจากความร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายสหสาขา และดำเนินการในหลายมาตรการควบคู่กันไป จึงได้มีนโยบายเร่งสร้างทีมเครือข่ายผู้ก่อการดี (Merit Maker) ป้องกันการจมน้ำให้ครอบคลุมทุกตำบล

กรกฎาคม 2/7 ******************** 18 กรกฎาคม 2559



   
   


View 16    18/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ