“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยใช้ยามูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการที่ผู้ป่วยมีเกินความจำเป็นถึง 2,370 ล้านบาทและเป็นการใช้ยายังมีข้อสงสัยต่อประสิทธิภาพอีก 4,000 ล้านบาท ประกาศนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลทุกแห่งส่งเสริม“การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล” กำหนดเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาที่ 15 และเป็นคำรับรองในการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจราชการกระทรวง
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ดูแลเรื่องยาในประเทศ มียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ การเข้าถึงยา การใช้ยาอย่างสมเหตุผล การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยา ชีววัตถุ สมุนไพร และการพัฒนาระบบการควบคุมยา โดยเรื่อง การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯและลงนามความร่วมมือพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU hospital) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมบัญชีกลาง และกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 203 แห่ง
ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2559 นี้ ได้มีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ดำเนินการส่งเสริม “การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล” ให้จัดทำเป็นคำรับรองในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจนถึงระดับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2560 เพื่อให้นโยบายพัฒนาการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล แปลงไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลขึ้น และกำหนดเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ( Service plan) สาขาที่ 15 เน้นการพัฒนาระบบ และการตระหนักรู้แก่ทุกคนที่อยู่ในวงจรการใช้ยา แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นอย่างไร ซึ่งรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทั่วโลกมีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลมากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงและอันตรายจากยา รวมถึงการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย ในปี 2555 พบว่า มูลค่าการบริโภคยาของคนไทยสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการที่ผู้ป่วยมีเกินความจำเป็นถึง 2,370 ล้านบาทและเป็นการใช้ยายังมีข้อสงสัยต่อประสิทธิภาพอีก 4,000 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายด้านยาเติบโตใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ร้อยละ 7-8 ต่อปี แต่สูงกว่าอัตราการเติบโตของ จีดีพี ประมาณร้อยละ 5-6 ต่อปี และที่สำคัญพบการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสถานพยาบาลจนถึงชุมชน
ทั้งนี้ “โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” ที่เข้าร่วมโครงการข้างต้น ดำเนินการโดยยึดกุญแจสำคัญ 6 ประการ คือ P-L-E-A-S-E ประกอบด้วย1.Pharmacy and Therapeutics Committee หรือคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบําบัด มีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายและพัฒนาระบบการจัดการด้านยาให้เป็นไปอย่างสมเหตุผลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 2.Labeling and Leaflet หรือฉลากยา ที่ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้ใช้ 3.Essential tools หรือเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เช่น คำแนะนำการใช้ยาในกลุ่มโรคต่างๆ การคัดเลือกยา 4.Awareness การสร้างความตระหนักรู้แก่บุคคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย 5. Special population ว่าการใช้ยาในคนสูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยกลุ่มพิเศษอื่นตามที่สถานพยาบาลกำหนด และ 6. Ethics คือ จริยธรรมในการสั่งใช้ยา
*************************** 20 กรกฎาคม 2559