กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ขยายพื้นที่โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านมครบ 76 จังหวัด  ครอบคลุมหญิงไทยอายุ 30-70 ปีกว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ  รณรงค์การตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หลังนำร่องใน 21 จังหวัดได้ผลดี สตรีกลุ่มเป้าหมาย 1.9 ล้านคน ตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอครอบคลุมเฉลี่ยร้อยละ 68 ค้นหาความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกมากถึงร้อยละ 70 ตรวจพบก้อนขนาดเล็กลง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา อัตราการมีชีวิตอยู่รอดเพิ่มขึ้น อัตราการตายลดลง

 

          วันนี้ (25 กรกฎาคม 2559) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข   นพ.วชิระ  เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย  และนพ.วัลลภ  ไทยเหนือ ประธานโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม ประชุมผู้บริหารระดับสูงจากมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และผู้บริหารระดับสูง/บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศกว่า 150 คน ติดตามความก้าวหน้าเพื่อพัฒนาการดำเนินงานโครงการสืบสานพระปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม  ทั้งนี้ รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้มอบเครื่องอัลตราซาวด์เคลื่อนที่ สนับสนุนโครงการฯ 8 เครื่อง

 

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านม มีแนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของมะเร็งในสตรีไทย  ข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2557 พบประชาชนอายุ 30 – 70 ปี ทั่วประเทศ ไม่รวมกทม. เสียชีวิตจากมะเร็ง รวม 47,086 คน ในจำนวนนี้ เป็นมะเร็งเต้านม 3,475 คน  มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ก้อนที่พบมักไม่เจ็บจึงไม่รีบมาพบแพทย์ ทำให้ได้รับการตรวจรักษาช้าและยุ่งยาก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้รณรงค์ให้หญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เมื่อพบความผิดปกติมาพบแพทย์โดยเร็ว ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

          นอกจากนี้ ได้ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ดำเนินการโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม ในรูปแบบประชารัฐ ใน 21 จังหวัด ผลการดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2555 – 30 มิถุนายน 2559 พบว่าได้ผลดี สตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30 – 70 ปีจำนวน 1.9 ล้านคน ตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอมีความครอบคลุมเฉลี่ยร้อยละ 68 ทำให้พบมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกมากขึ้นถึงประมาณร้อยละ 70 และก้อนที่พบก็มีขนาดเล็กลง ซึ่งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ อัตราการมีชีวิตอยู่รอดเพิ่มขึ้นและอัตราการตายลดลงในที่สุด ในปีนี้จะดำเนินการเพิ่มใน 55 จังหวัดที่เหลือ ตั้งเป้าหมายสตรีอายุ 30-70 ปีทั่วประเทศที่มีกว่า 13.33 ล้านคน ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และทุกคนที่พบความผิดปกติได้รับการส่งต่อเพื่อตรวจยืนยันและรักษาอย่างเหมาะสม

 

          ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นการใช้นวัตกรรมที่เน้นการให้ความรู้สตรีในการตรวจเต้านมตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอทุกเดือน และบันทึกผลการตรวจลงในสมุดบันทึกการตรวจเต้านมตนเอง มีอาสาสมัครสาธารณสุขยืนยันการตรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้รับรองผลการตรวจ โดยหากพบก้อนหรือความผิดปกติ จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เคลื่อนที่ ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น และส่งต่อไปยังช่องทางด่วนที่โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม หากพบก้อนผิดปกติ ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามพระราชประสงค์สมเด็จย่าที่ต้องการ “ให้ช่วยสตรีทุกคนพ้นภัยมะเร็งเต้านม ไม่ว่าเขาจะยากดี มีจน”

 

****************************  25 กรกฎาคม 2559



   
   


View 20    25/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ