กระทรวงสาธารณสุข   เผยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเงินเดือนและค่าตอบแทน  ได้มีการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.ความเหลื่อมล้ำอัตราเงินเดือนค่าจ้าง เต็มขั้นเทียบกับข้าราชการประเภทอื่น 2.การปรับจากระบบ ซี ไปสู่ แท่ง  3.ประเด็นการนับเวลาเกื้อกูล  โดยขอให้ ก.พ. ทบทวน-แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2557 ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ได้รับชี้แจงว่า อยู่ระหว่างทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  

 
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณี ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากได้รับผลกระทบเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนและค่าตอบแทนรวมทั้งความก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยขอให้เพิกถอนกฎ คำสั่งและการให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด ว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนแก่บุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใน 3 เรื่องดังนี้ เรื่องที่  1.ความเหลื่อมล้ำอัตราเงินเดือนค่าจ้าง กรณีเงินเดือนขั้นสูงของข้าราชพลเรือนเทียบกับข้าราชการประเภทอื่น เช่น ข้าราชการครู ข้าราชการอัยการ ตุลาการ ท้องถิ่นซึ่งต่ำกว่ากลุ่มดังกล่าว  เรื่องที่ 2.การปรับจากระบบจำแนกตำแหน่งตามระดับ(ซี) ไปสู่ระบบการจำแนกประเภทตำแหน่ง (แท่ง) จะมีอัตราเงินเดือนเหลื่อมล้ำระหว่างตำแหน่งวิชาการระดับชำนาญการ(นักวิชาการสาธารณสุข) ที่เงินเดือนขั้นสูงอยู่ที่ 43,600 บาทกับประเภททั่วไป (เจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส) ที่เงินเดือนขั้นสูงอยู่ที่ 54,820 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด
 
โดยทั้ง 2 ประเด็น กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับสำนักงาน ก.พ. 3 ครั้ง  โดยครั้งที่ 1 เมื่อได้ส่งหนังสือ ที่ สธ 0201.037/2008    วันที่ 31 กรกฎาคม 2557   ขอให้ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการได้รับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญที่เงินเดือนถึงขั้นสูงของสายงานหรือระดับตำแหน่ง สามารถรับเงินเดือนได้อีกในระดับถัดไปได้อีกระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับข้อกฎหมายของข้าราชการประเภทอื่น เพื่อสร้างแรงจูงใจ และลดการไหลออกจากระบบ  ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ได้มีหนังสือที่ นร 1008.1/226 ลงวันที่ 8 กันยายน 2557 แจ้งว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 50 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ได้มีการประชุมหารือร่วมกับระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการ ก.พ.  โดยกระทรวงสาธารณสุขขอให้สำนัก ก.พ.ทบทวนแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการประเภทอื่นๆ 
 
และล่าสุดครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 กลุ่มบริหารงานบุคคลได้ประสานไปยังสำนักงาน ก.พ. ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะดำเนินการเสร็จเมื่อไหร่  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มบริหารงานบุคคล อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายละเอียดข้าราชการในสังกัด ที่เงินเดือนเต็มขั้น ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558  และเมษายน 2559 เพื่อเป็นข้อมูลให้ ก.พ.พิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าว
 
สำหรับเรื่องที่ 3 ประเด็นการนับเวลาเกื้อกูลของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานของรัฐ เพื่อคำนวณเวลาราชการในการคิดบำเหน็จบำนาญ ได้หารือไปที่ ก.พ. แล้วเช่นกัน
      ************* 3 สิงหาคม 2559 


   
   


View 16    03/08/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ