กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือน โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีฯ  คืบหน้าไปมาก สามารถคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปได้ 69,542 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.48  คัดกรองในประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปด้วยอัลตร้าซาวด์ได้ 127,277 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.28 รักษาด้วยการผ่าตัดได้ 460 คนจากเป้าหมาย 600 คน เร่งรัดให้บรรลุเป้าหมาย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

วันนี้ (24 สิงหาคม 2559) ที่ โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมการแลกเปลี่ยนรู้การทำงานภายใต้โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี ในปีพุทธศักราช 2559 พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตลอดจนในปีพุทธศักราช 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในปี 2560 โดยมีผู้บริหารผู้ปฏิบัติงานในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมเกือบ 400 คน  

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายภายในปี 2568 ให้คนไทยปลอดภัยจากโรคพยาธิใบไม้ตับ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้โครงการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถฯ ดำเนินการในพื้นที่เสี่ยง 27 จังหวัด 84 อำเภอ ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนพบว่า มาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยการลดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ/ห่วงโซ่อาหาร หรือปลาปลอดพยาธิ  พบว่าท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรคได้ครบทั้ง 84 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 มีการจัดการเรียนการสอนเรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน ตลอดจนมีการปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพกลุ่มเสี่ยงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในตำบลจัดการสุขภาพครอบคลุมทุกตำบลสามารถคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้ 69,542 คน จากเป้าหมาย 76,020 คนหรือร้อยละ 91.48  และคัดกรองในประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปด้วยอัลตร้าซาวด์ได้ 127,277 ราย จากเป้าหมาย 135,000 คนหรือร้อยละ 94.28  รักษาด้วยการผ่าตัดได้ 460 คนจากเป้าหมาย 600 คน พร้อมให้การดูแล palliative care ผสมผสานแพทย์แผนไทยแก่ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายทุกราย

สำหรับพื้นที่ดำเนินการ 27 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคตะวันออก 1 จังหวัดคือจังหวัดสระแก้ว ในเขตสุขภาพที่ 1, 6, 7, 8, 9 และ 10 โดยทุกกิจกรรมที่ดำเนินการจะมีการบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูล Isan-cohort ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลา และผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีศักยภาพในการผ่าตัด 14 แห่ง คือ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รพ.สรรพสิทธิประสงค์, รพ.ขอนแก่น, รพ.นครราชสีมา,  รพ.สุรินทร์, รพ.ร้อยเอ็ด,    รพ.สกลนคร, รพ.มะเร็งอุบลราชธานี, รพ.อุดรธานี, รพ.มะเร็งอุดรธานี, รพ.บุรีรัมย์,  รพ.มหาราชนครเชียงใหม่, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และ รพ.ลำปาง

]

สิงหาคม 4/3 **********************************  24 สิงหาคม 2559



   
   


View 14    25/08/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ