มติคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เห็นชอบแนวทางปฏิบัติผู้ป่วยฉุกเฉินและอัตราค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติใน 72 ชั่วโมงแรก ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน เสนอ 3 กองทุน และรพ.เอกชน เพื่อลงนามบันทึกความร่วมมือพร้อมประกาศใช้ทันที เพื่อประชาชนจะได้รับการบริการอย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไขเรียกเก็บค่ารักษา พร้อมเสนอครม.คาดใช้ได้ภายในธันวานี้
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (สัญจร) ครั้งที่11/2559 ที่โรงพยาบาลขอนแก่น ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ" กรณีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ใน 72 ชั่วโมงแรก ทั้งนี้ อัตราค่ารักษาพยาบาลเป็นไปตามที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษา
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ประสานงานหน่วยงานทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และโรงพยาบาลเอกชน โดยนำรายละเอียดจากมติที่ประชุมฯ หารือพิจารณาร่วมกันในการกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการรักษาและอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Fee schedule) กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติใน 72 ชั่วโมงแรกที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา เมื่อได้ข้อยุติจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามนโยบายได้ทันที พร้อมทั้งเดินหน้าเสนอคณะรัฐมนตรีคาดว่านโยบายดังกล่าวใช้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการฯ สัญจร ได้เลือกพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นต้นแบบในการบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบเทียบเท่าสากล ทั้งระบบการรับแจ้งเหตุ การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ การนำส่งไปยังห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว มาตรการความปลอดภัย ของรถพยาบาลซึ่งมีการติดตั้งระบบสัญญาณดาวเทียมควบคุมความเร็ว พนักงานขับรถผ่านการอบรมตามมาตรฐาน การบริหารจัดการข้อมูล และยังเป็นที่ฝึกอบรม ศึกษาดูงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
************************ 25 สิงหาคม 2559
View 12
25/08/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ