“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคไข้ซิกา เผยขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในรูปแบบประชารัฐ ตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ป้องกัน 3 โรค จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2559
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกล กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำมาตรการสำคัญของ 3 โรคที่นำโดยยุงลาย คือ ไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โดยเฉพาะโรคไข้ซิกา ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ติดเชื้อไวรัสซิกาหรือโรคไข้ซิกา ตั้งแต่ต้นปี 2559 จนถึงขณะนี้พบผู้ป่วยประปรายในทุกภาค ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วน 4 จังหวัดที่ต้องดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ได้แก่ เชียงใหม่ จันทบุรี เพชรบูรณ์ และบึงกาฬ ผู้ป่วยหายเป็นปกติ ไม่มีรายงานพบเด็กทารกแรกคลอดศีรษะเล็ก และผู้ป่วยกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสซิกาแต่อย่างใด
ในวันนี้ ได้กำชับให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะ 4 จังหวัดที่พบผู้ป่วยรายใหม่ รวมทั้ง 10 จังหวัดที่เคยพบผู้ป่วย ให้ดำเนินการเข้ม 3 มาตรการ คือ 1.การป้องกันโรค เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดระดมพลังประชาชนและทุกหน่วยงานในพื้นที่ ในรูปแบบประชารัฐ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องทุกวันศุกร์ เพื่อตัดวงจรชีวิตยุงลายป้องกัน 3 โรค คือไข้เลือดออก โรคไข้ซิกา และโรคชิคุนกุนยา ตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. อย่างเข้มข้นจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2559 2.การควบคุมโรคในพื้นที่บ้านผู้ป่วย รัศมี 100 เมตรรอบบ้าน และระดับตำบล โดยพ่นสารเคมีกำจัดยุงตามมาตรการอย่างเข้มข้น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้หมดภายใน 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่จนครบ 28 วันจึงถือว่าปลอดโรค โดยในจังหวัดที่พบผู้ป่วย ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อควบคุมกำกับการดำเนินงานตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และ3.การเฝ้าระวังโรค เน้นการค้นหาผู้ป่วย 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ ตาแดง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เด็กทารกแรกคลอดศีรษะเล็กผิดปกติ และผู้ป่วยอาการทางระบบประสาท
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์และการดำเนินการจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศแบบเรียลไทม์ทุกวัน ในการสื่อสารไปสู่สาธารณชนขอให้ยึดจากข้อมูลที่มาจากส่วนกลางเป็นหลักเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน โดยมอบให้รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนในระดับกรม และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในระดับกระทรวง
“ผู้ป่วยโรคไข้ซิกาส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก มีอาการไข้ ตาแดง ปวดข้อ มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะหายจากโรคได้ภายใน 7 วัน ประชาชนจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป ที่ต้องระวังคือในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อทารกอาจมีศีรษะเล็กแต่กำเนิดได้ ดังนั้นหากมีไข้ มีผื่นแดงขณะตั้งครรภ์ ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากการติดตามอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ มีหญิงตั้งครรภ์ 30 รายที่อยู่ในพื้นที่พบผู้ป่วย คลอดแล้ว 6 ราย ไม่มีรายใดคลอดบุตรที่มีศีรษะเล็ก และยังติดตามเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ที่เหลืออย่างใกล้ชิด ยืนยันมาตรการที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ไม่ให้ยุงกัด โดยการทายากันยุง การควบคุมยุงและลูกน้ำยุงลายให้มีน้อยที่สุด” นายแพทย์โสภณกล่าว
************************** 6 กันยายน 2559