“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันโรคติดต่อจากยุงลาย ทั้งไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลายในช่วงหน้าฝน ตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ต่อเนื่องทุก 7 วัน แนะนำหญิงตั้งครรภ์ทายากันยุงที่ทำจากสมุนไพรธรรมชาติ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ เป็นช่วงฤดูฝนทำให้จำนวนยุงเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 30 สิงหาคม 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 35,872 ราย เสียชีวิต 28 ราย โดยภาคเหนือและภาคใต้มีอัตราป่วยสูง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัด ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หมออนามัย อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตัดวงจรชีวิตยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” และ 5 ส. ป้องกัน 3 โรค คือไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย ขอให้สำรวจทุกจุดที่มีน้ำขัง เช่น ถังเก็บน้ำ ตุ่มน้ำ แจกัน อ่างบัว จานรองกระถางต้นไม้ จานรองขาตู้ ทั้งในบ้าน บริเวณบ้าน สถานที่ทำงาน ที่สาธารณะต่างๆ ทำต่อเนื่องทุก 7 วัน
สำหรับความกังวลเกี่ยวกับโรคไข้ซิกานั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง ร่วมกับฝ่ายปกครอง และทหาร มีห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคอีก 8 แห่ง สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อทราบผลภายใน 1 วัน และมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ทันทีที่พบผู้ป่วย ทำให้สามารถจำกัดการแพร่กระจายเชื้อ ไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขอย้ำว่า ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ที่พบบ่อยคือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์
นอกจากนี้ ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง สวมเสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆ ปกคลุมผิวหนังและร่างกาย อยู่ในบ้านที่มีมุ้งลวดหรือนอนในมุ้ง ในหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้ทายากันยุงที่ทำจากสมุนไพร เช่นตะไคร้หอม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนั้น ทารกที่คลอดไม่ได้มีศีรษะเล็กแต่กำเนิดทุกราย จึงไม่ควรกังวลมากเกินไป อย่างไรก็ตามควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
***************************************** 7 กันยายน 2559