รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกของโลกกับผู้นำสุขภาพของประเทศในภูมิภาคและผู้นำสุขภาพระดับโลก ร่วมออกกำลังกาย ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ชี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นพื้นฐานสำคัญสู่ความสำเร็จในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก

        ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ว่า ระหว่างการประชุมวานนี้ (6 กันยายน 2559) คณะกรรมการบริหารฯ ซึ่งเป็นผู้นำระดับประเทศและระดับโลก ได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกของโลก โดยการออกกำลังกายอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจาก 11 ประเทศในภูมิภาค ถือเป็นการส่งสัญญาณทางนโยบายที่สำคัญ ที่ผู้นำด้านสุขภาพจะร่วมกันขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน

        นอกจากนี้  ในการประชุมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ได้แลกเปลี่ยนปัจจัยความสำเร็จของประเทศไทยในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พ.ศ. 2543 จนสิ้นสุดในพ.ศ. 2558 โดยใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมี 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.การมีนโยบายและงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง 2.การพัฒนาระบบสุขภาพและโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคถึงระดับปฐมภูมิ และการมีกำลังคนด้านสุขภาพที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ 3.การใช้ความรู้เป็นฐานในการขับเคลื่อนนโยบายและกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านสุขภาพที่สำคัญ

     สำหรับประเด็นท้าทายสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะต่อไปหลังจากพ.ศ. 2558 คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุ โรคและภัยสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาขีดความสามารถในการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพใหม่ที่มีราคาแพงเข้ามาใช้ในระบบ ปัญหาสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์และการวางแผนความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้านสุขภาพ โดยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมโลก สู่ความสำเร็จในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้แสดงความยินดีและชื่นชมแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก ในความสำเร็จการยุติปัญหาการแพร่เชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก และการกำจัดโรคบาดทะยักในมารดาและทารกแรกเกิด ซึ่งแสดงถึงความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ และความมุ่งมั่น ทุ่มเทของบุคลากรด้านสาธารณสุขไทย

*********************************  7 กันยายน 2559



   
   


View 14    08/09/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ