กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ ขอความร่วมมือประชาชนที่เลี้ยงสุนัข-แมวฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี หากถูกสุนัข- แมวกัด โดยเฉพาะที่มือ ใบหน้าหรือในเด็ก ให้ปฐมพยาบาลแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนทันที ส่วนกรณีข่าวที่ จ.ปทุมธานี ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่แล้ว เบื้องต้นได้รับรายงานอาการคล้ายโรคไข้สมองอักเสบ
วันนี้ (8 กันยายน 2559) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับข่าวผู้เสียชีวิตถูกสุนัขกัดเสียชีวิต ที่จังหวัดปทุมธานี ว่า กรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ร่วมกับทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นได้รับรายงานว่าผู้เสียชีวิตมีอาการคล้ายโรคไข้สมองอักเสบ รอผลการสอบสวนโรค ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ ขอความร่วมมือประชาชนที่เลี้ยงสุนัข-แมวฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสม่ำเสมอ และหากถูกสุนัข-แมวกัด โดยเฉพาะที่มือ ใบหน้าหรือในเด็ก ให้ปฐมพยาบาลแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนทันที
ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -7 สิงหาคม 2559 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย จากจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ราย และตาก ระยอง สมุทรปราการ สงขลา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ระยะฟักตัวของโรคมีตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานเกิน 1 ปี กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็น 1 ในโรคที่ต้องเฝ้าระวัง และรายงานต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 หากพบมีผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากถูกสุนัขเลี้ยงเองและสุนัขเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค หรือสุนัขและแมวจรจัดกัดหรือข่วน ขณะนี้ในประเทศไทยมีจำนวนสุนัขทั้งสิ้น 7.4 ล้านตัว มีอัตราการฉีดวัคซีนร้อยละ 23 ส่วนสุนัขที่มีเจ้าของอัตราการฉีดวัคซีนร้อยละ 70 ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้วางแนวทางการป้องกันโรคไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากเสียชีวิตให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภา เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ3.ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุด ตามเวลาที่แพทย์นัด หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
********************************* 8 กันยายน 2559
View 17
08/09/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ