“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาต่อเนื่อง ขอประชาชนรับทราบวิธีการป้องกันตนเอง แต่อย่าตื่นตระหนก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเอง อาจมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนเด็กหัวเล็กที่ จ.เชียงใหม่เป็นความพิการแต่กำเนิดไม่ใช่จากติดเชื้อไวรัสซิกา เตรียมจัดประชุมประเทศสมาชิกอาเซียน หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน พร้อมกำหนดนโยบาย และมาตรการป้องกันควบคุมโรคร่วมกัน
วันนี้ (8 กันยายน 2559) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า โรคนี้เป็นโรคที่พบอยู่แล้วในประเทศไทยและอาเซียน ขณะนี้การตรวจจับและวินิจฉัยโรคทำได้รวดเร็วขึ้น ทำให้มีการรายงานพบผู้ป่วยเป็นจุดๆ ในหลายพื้นที่ ล่าสุดข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยประมาณ 37 ราย ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรงและส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 5 - 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับภาวะศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด
ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารของทางกระทรวงสาธารณสุข รับทราบวิธีการป้องกันตนเองและอย่าตื่นตระหนก โดยข้อมูลจากการเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ 5 - 6 คนที่ติดเชื้อไวรัสซิกาพบว่า เด็กที่คลอดออกมาปกติทุกคน ส่วนกรณีพบเด็กหญิงหัวเล็ก ลำตัวแคระแกร็น ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่นั้น ได้ส่งทีมจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบพบว่า เด็กรายดังกล่าว มีภาวะศีรษะเล็กจากความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นโรคเซกเคลซินโดรม (Seckel syndrome) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสซิกา
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเตรียมจัดประชุมประเทศสมาชิกอาเซียน หารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เพื่อกำหนดนโยบาย มาตรการป้องกันควบคุมโรคร่วมกัน ช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคในภูมิภาคนี้ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ทุกคนทำได้ และได้ผลดีคือการร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนนี้ ซึ่งเป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส คือ“เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ให้ทำอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป รวมถึงการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ทันที ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
********************************* 8 กันยายน 2559