กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่าย พัฒนาวิชาการเรื่องการดูแลเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย อายุแรกเกิดถึง 5 ปีทุกคนได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู ชุมชน ภายในปี 2561 สนับสนุนโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

 

วันนี้ (14 กันยายน 2559) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการ “การดูแลเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21” เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยให้เป็นไปอย่างมีศักยภาพ  โดยมีผู้บริหาร นักวิชาการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพัฒนาการเด็ก ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กรมแพทย์ทหารบก และภาคีเครือข่ายกว่า 800 คน ร่วมพัฒนาองค์ความรู้  แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านพัฒนาการเด็กให้มีมาตรฐานเดียวกัน

 

 นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่าง 1 เมษายน 2558-31 มีนาคม 2561 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย อายุแรกเกิดถึง 5 ปีทุกคนได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และชุมชน  โดยบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย 4 กระทรวงหลัก คือกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ ตั้งแต่ระดับนโยบายถึงพื้นที่

 

 โดยในระยะแรก ได้ร่วมมือกันในการบูรณาการแผนการทำงาน สร้างเครือข่ายการทำงาน รวมทั้งจัดสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย  ณ สถานบริการสาธารณสุข/ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ผลการดำเนินงานพบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี ร้อยละ 86.58 มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 76.49 สงสัยพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 23.07 และได้รับการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการภายใน 30 วัน กลับมาสมวัย ร้อยละ 95.63 รวมถึงพบพัฒนาการล่าช้าส่งต่อแพทย์เฉพาะทางดูแลทันทีร้อยละ 0.44

 

สำหรับระยะที่ 2 ตั้งเป้าหมายค้นหาเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าให้ครอบคลุม และติดตามกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้ให้ทุกจังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.ให้ทุกจังหวัดใช้กลไกของอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และ 4 กระทรวงหลักเป็นเลขานุการ ร่วมกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ (Service plan) ในการกำกับ ติดตาม แก้ไขปัญหา มีระบบเฝ้าระวังการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี 2.มีผู้บริหารโครงการ (Child Project Management) ในระดับจังหวัดและอำเภอ ที่ร่วมประสานงาน ติดตาม ให้คำปรึกษา ทั้งด้านวิชาการและการบริการ จัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่  3.มีศูนย์เด็กเล็กที่ได้มาตรฐาน และครูพี่เลี้ยงที่ผ่านการอบรมครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ รองรับการดูแลส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กปฐมวัย 4.มีคลินิกสุขภาพเด็กดี เพื่อช่วยเหลือในการตรวจพัฒนาการว่าล่าช้าหรือสงสัยว่าล่าช้า ที่ยังขาดระบบการช่วยเหลือและส่งต่อที่เหมาะสม รวมถึงการตรวจพัฒนาการในเด็กกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม คือ เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กคลอดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม  มารดาตั้งครรภ์วัยรุ่นและกลุ่มพัฒนาการช้า

**************************** 14 กันยายน 2559

 



   
   


View 19    14/09/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ