รองนายก “ณรงค์” สรุปผลงานสำคัญกระทรวงสาธารณสุขตามนโยบายรัฐบาลรอบ 2 ปี บูรณาการความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยนโยบายสุขภาพ ส่งมอบบริการสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน 5 ด้านได้แก่ การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข ยกระดับคุณภาพของระบบการรักษาพยาบาลด้านการแพทย์ สร้างเสริมความเข้มแข็งในการให้บริการด้านสาธารณสุข สร้างอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาเศรษฐกิจไทย   และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคม  

วันนี้ (15 กันยายน 2559) ที่ ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีแถลงผลงานสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขตามนโยบายรัฐบาลรอบ 2 ปี พ.ศ.2558-2559 ว่า สุขภาพของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากคนไทยทุกคนมีสุขภาพกาย-ใจแข็งแรง จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ นำพาประเทศก้าวไปสู่เป้าหมายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักดูแลสุขภาพของประชนชนทั้งประเทศ ได้บูรณาการความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ  ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยนโยบายสุขภาพ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จต่อประชาชนโดยตรง โดยได้มีการดำเนินงาน 5 ด้านคือ 

1.การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข อาทิ การยกระดับคุณภาพระบบการรักษาพยาบาลด้านการแพทย์ ด้วยแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) 15 สาขา สร้างทีมหมอครอบครัว 66,492 ทีม ให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชนเชิงรุกทั้งในสถานพยาบาลและที่บ้าน  พร้อมเสริมประสิทธิภาพบริการปฐมภูมิโดยบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านเวชศาสตร์ครอบครัว จัดทำรายการชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานร่วมทุกสิทธิ จัดทำนโยบายความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ และร่างการเตรียมความพร้อมและจัดการยาและเวชภัณฑ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข พัฒนาอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ พัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพ เพื่อความเป็นเอกภาพและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านสุขภาพ รวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับการปฏิรูประบบสาธารณสุข

2.ยกระดับคุณภาพของระบบการรักษาพยาบาลด้านการแพทย์  อาทิ เปิดคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD Clinic) ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ช่วยยืดเวลาเกิดไตวายออกไปอีก 7 ปี เป็นประเทศแรกของโลก ปลูกถ่ายไตคืนชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังกว่า 600 ราย ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท  ผู้ป่วยโรคหัวใจเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ 797 แห่ง ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง จาก 20 เหลือ 15 ต่อประชากรแสนคน ลดการเสียชีวิตได้ 1.3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2556 ลดระยะเวลารอคอยในการผ่าตัดหัวใจ  มีโรงพยาบาลผ่าตัดโรคหัวใจ 16 แห่ง  และสวนหัวใจได้  18 แห่ง มีศูนย์ประสานการส่งต่อในโรงพยาบาลทุกจังหวัดและทุกเขตสุขภาพ ช่วยส่งต่อผู้ป่วยครบ 100 เปอร์เซ็นต์   

นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ประชาชนใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ด้วยแนวคิด“ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรักษาได้ทุกที่ ได้ทุกสิทธิ์ 72 ชั่วโมงแรก ไม่จ่ายค่ารักษาเพิ่ม หรือถูกเรียกเก็บก่อน” พัฒนาระบบการจ่ายค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน Emergency Claim Online (EMCO) เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดรูปแบบและอัตราจ่ายของกองทุน สามารถรับรองสิทธิ์ของผู้ป่วยภายใน 15 นาที รวมทั้ง การมีระบบการติดต่อเตียงผู้ป่วยหลังการรักษา 72 ชั่วโมงแรก 

3.สร้างเสริมความเข้มแข็งในการให้บริการด้านสาธารณสุข อาทิ พัฒนาศักยภาพผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) ซึ่งเป็นบุคลากรสาธารณสุขบริการเชิงรุกครอบครัวที่ต้องได้รับการดูแลระยะยาว สร้างและพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน(Care giver) กว่า 10,000 ทีม ดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงที่บ้าน 87,500 คน ผู้พิการ 280,004 คน และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต 35,506 คน  จัดบริการโดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ในรูปแบบ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) นำร่องในพื้นที่เขตเมือง 16 จังหวัด จำนวน 48 ทีม ดูแลแบบองค์รวม ทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่อง ด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และทีมสหสาขาวิชาชีพ เชื่อมโยงการส่งต่อกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ภายใต้พันธะสัญญาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง “ให้บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอันทันสมัย” ตั้งเป้ามีทีมหมอครอบครัวและสหวิชาชีพ ให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 ทีมต่อประชากร 10,000  คน สำหรับดูแลประชากร 1 ล้านครอบครัว ในปี 2560 

นอกจากนี้  ได้จัดบริการส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย ประกอบด้วย แรกเกิด วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงานและสูงอายุ ตลอดจนดูแลผู้พิการ โดยเน้นการพัฒนาให้เด็กไทยมีสติปัญญา (IQ) ที่มากกว่ามาตรฐานสากล เด็กวัยเรียนมีปัญหาภาวะอ้วน เตี้ย ตายจากการจมน้ำ ต้องเร่งแก้ไข ส่งเสริมให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการกิน เสริมสร้างทักษะชีวิตในวัยรุ่นให้ฉลาดรัก รู้จักเลือก ป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรในวัยรุ่น เฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพกลุ่มวัยทำงานซึ่งส่วนใหญ่ป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เพิ่มขึ้น สนับสนุนกายอุปกรณ์แก่ผู้พิการขาขาด เป็นต้น 

4.สร้างอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาเศรษฐกิจไทย  อาทิ สนับสนุนให้มีการผลิตยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ส่งเสริมตลาดยาแผนไทย เพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพ สู่ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจไทย ลดค่ายานำเข้ากว่า 2,600 ล้านบาท/ปี  โดยเฉพาะสมุนไพรไทย 5 ชนิดหลัก ได้แก่ ขมิ้นชัน มะขามป้อม ที่พัฒนาเป็นยาแผนไทย นอกจากนี้ได้รับการพัฒนากวาวเครือขาว กระชายดำ บัวบก ซึ่งเป็นตำรับยาอายุวัฒนะเป็นเครื่องสำอาง สร้างมูลค่าการตลาดกว่า 10,000  ล้านบาท/ปี  มีการจัดบริการผู้ป่วยนอกแพทย์แผนไทยคู่ขนานในโรงพยาบาล 594 แห่ง และมีโรงพยาบาลผลิตยาสมุนไพรที่ผ่านมาตรฐาน GMP  15 แห่ง 

5.ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม  โดยพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันโรค  ได้จัดระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการระบาดของโรค เช่น โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 ไข้หวัดใหญ่ 2009 (H1N1) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ด้วยแนวคิด “เตรียมพร้อม เฝ้าระวัง ตรวจจับได้เร็ว ตอบโต้” เพื่อลดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะในการตรวจวิเคราะห์โรคอีโบลา 22 แห่ง  พัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยตรวจเชื้อโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ภายใน 8 ชั่วโมง มีการซ้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน/โรคระบาดที่สม่ำเสมอและเข้มแข็ง พัฒนาทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค เคลื่อนที่เร็ว และแพทย์ระบาดวิทยา 1,080 ทีม พัฒนาระบบศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน Emergency Operation Center (EOC) แต่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อบริหารจัดการ อำนวยการและสนับสนุนให้เกิดการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

********************* 15 กันยายน 2559



   
   


View 16    15/09/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ