“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร อาทิ ก.เกษตรฯ ม.มหิดล ไทยแพน แลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ปนเปื้อนสารเคมีตกค้าง เพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัยผักผลไม้ แนะประชาชนกินผักผลไม้หลากหลายชนิด หมุนเวียนกัน และล้างให้สะอาดจะช่วยลดประมาณสารตกค้างลงได้
วันนี้ (10 ตุลาคม 2559) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และภาคประชาสังคมคือเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ร่วมประชุม และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะผักผลไม้ ได้นำข้อมูลสถานการณ์ความปลอดภัยของผักผลไม้ที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ผักผลไม้ที่แต่ละหน่วยงานไปสุ่มตรวจมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง แต่ปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหนต้องมาพิจารณาร่วมกันให้ชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากวิธีการเก็บตัวอย่างและวิธีการตรวจมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ เพราะหากรับประทานในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไป และหลากหลายชนิด หมุนเวียนกันไป รวมทั้งล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการล้างน้ำไหลผ่าน น้ำผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำผสมเบ็คกิ้งโซดา ก็จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างลงได้
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และไทยแพน ร่วมกันรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลสารพิษตกค้างที่พบมาก เพื่อนำมากำหนดมาตรการในการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ควรใช้ในประเทศไทย กำหนดวิธีการตรวจที่มีมาตรฐาน รวมทั้งคำแนะนำแก่ประชาชนในการล้างผักผลไม้เพื่อลดสารเคมีตกค้าง ให้บริโภคได้อย่างปลอดภัย โดยให้รายงานความคืบหน้าในอีก 15 วันในการประชุมครั้งต่อไป
ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการในการตรวจสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ตรวจได้ 280 ชนิด จะใช้เครื่องตรวจเครื่องใหม่ที่สามารถตรวจได้ 500 ชนิดเช่นเดียวกับห้องปฏิบัติการที่ประเทศอังกฤษ และร่วมกันวิเคราะห์สารที่มีปัญหาตกค้างสูง เพื่อติดตามเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งกำหนดวิธีการตรวจที่มีมาตรฐานเดียวกัน ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ลดความสับสนของข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่ว่าจะตรวจที่ห้องปฏิบัติการใดในประเทศที่ผ่านมาตรฐานนี้ จะเป็นมาตรฐานเดียวกับสากล
******************************* 10 ตุลาคม 2559