โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวป่า ภูเขา ช่วงฤดูหนาว ระวังตัวไรอ่อนกัดเสี่ยงป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ ปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 6,668 ราย เสียชีวิต 2 ราย แนะทำที่พักให้โล่ง ไม่นั่งและนอนบนพื้นหญ้า แต่งกายให้มิดชิด กลับจากเที่ยวป่า 2 สัปดาห์มีไข้สูง มีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ ให้รีบพบแพทย์ทันที

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูหนาวประชาชนนิยมเที่ยวภูเขา ป่า ขอให้ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด ติดโรคไข้รากสาดใหญ่หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) ตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกตเซีย (Rickettsia orientalis) บริเวณที่ชอบโดนกัดคือในร่มผ้า เช่น ลำตัว เอว รักแร้ ขาหนีบ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะขมับและหน้าผาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ตัว ตาแดง ผิวหนังผู้ป่วยที่ถูกไรอ่อนกัดจะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ ลักษณะเป็นรอยบุ๋มสีดำ เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ในการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ผู้ที่จะไปเดินเที่ยวและพักค้างแรมในป่า ควรใช้ยาทากันแมลงกัด ที่แขน ขา ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ เหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ในการเลือกที่ตั้งเต็นท์พักในป่า ควรทำบริเวณที่พักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่ง นอนบริเวณพุ่มไม้ ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก รีบอาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ให้สะอาดทันทีหลังกลับมาจากการเข้าไปในแหล่งอาศัยของไรอ่อน รีบนำเสื้อผ้าไปต้ม หรือแช่ผงซักฟอกทันที เพื่อทำลายไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้  หากภายใน 2 สัปดาห์หลังออกจากป่ามีอาการป่วยตามอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการเข้าไปในป่าเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ

จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคสครับไทฟัส โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม 255920 ธันวาคม 255ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 6,668 ราย เสียชีวิต 2 ราย ภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด 4,172 ราย รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,499 ราย โรคนี้สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดปี มักพบในกลุ่มชาวสวน ชาวไร่ นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า จะพบมากในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต กระจ้อน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

*********************** 31 ธันวาคม 2559

 

 

 

 



   
   


View 29    31/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ