กระทรวงสาธารณสุข ส่งยาสามัญประจำบ้าน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่พิษณุโลก20,000 ชุด หนองคาย 2,000 ชุดเป็นการด่วน โดยเฉพาะที่พิษณุโลกพบเส้นทางสัญจรเข้าโรงพยาบาลนครไทยและวังทองถูกตัดขาด ผู้ป่วยที่จะเดินทางมาโรงพยาบาลควรใช้เส้นทางอ้อมเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งเพิ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วเสริม 20 ทีม ช่วยทันทีหากสถานการณ์รุนแรง
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุดีเปรสชั่นเลกีมา ที่จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ หนองคายว่า ในเบื้องต้น ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบอุทกภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ได้ตรวจสอบสถานการณ์แล้วพบว่า เมื่อคืนนี้ มีโรงพยาบาล 2 แห่งในจังหวัดพิษณุโลกถูกน้ำท่วม ได้แก่ โรงพยาบาลนครไทยและโรงพยาบาลวังทอง แต่เช้าวันนี้ (6 ตุลาคม 2550) น้ำเริ่มลดลงแล้ว โดยโรงพยาบาลนครไทย น้ำเข้าท่วมสนามหญ้า และรั้วเสียหายเนื่องจากกระแสน้ำพัดแรงมาก อาคารเก็บสต็อกยาได้รับความเสียหายบางส่วนเนื่องจากเคลื่อนย้ายไม่ทัน สำหรับโรงพยาบาลวังทองซึ่งอยู๋ใกล้ตัวจังหวัด น้ำท่วมระดับครึ่งเมตร เนื่องจากการระบายน้ำไม่ดี อาคารผู้ป่วยทั้ง 2 แห่งไม่ถูกน้ำท่วมยังคงให้บริการผู้ป่วยได้เหมือนเดิม แต่พบปัญหาเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ผู้ป่วยที่จะเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งต้องใช้เส้นทางอ้อมไปทางที่ถนนสามารถเดินทางได้เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและญาติที่นำผู้ป่วยมาส่ง
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยขณะนี้ ได้รับแจ้งว่าสถานบริการทุกแห่งยังสามารถเปิดให้บริการได้ ในวันนี้ได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านไปให้จังหวัดพิษณุโลก 20,000 ชุด จังหวัดหนองคาย 2,000 ชุดนอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็ว 20 ทีม อำเภอละ 2 ทีม ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเวชภัณฑ์เตรียมพร้อมออกปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับเสริมทีมในพื้นที่เมื่อรับมือไม่ไหว หรือหากเกิดสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายดังนี้ สถานีอนามัยบ้านโคก ตำบลบ้านโคก น้ำท่วมอาคารชั้นล่างสูง 62 เซนติเมตร สถานีอนามัยสะเดียง ตำบลสะเดียง อำเภอเมือง น้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง น้ำท่วมอาคารสำนักงาน และบ้านพักเจ้าหน้าที่ 3 หลังสูงประมาณ 50 เซนติเมตร โต๊ะทำงาน เก้าอี้ ประตู หน้าต่างได้รับความเสียหาย สำหรับสถานีอนามัยที่ถูกน้ำท่วมชั้นล่าง เจ้าหน้าที่ยังคงใช้ชั้นบนของอาคารให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้โรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหลังน้ำท่วมที่พบประจำได้แก่ โรคท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ ตาแดง ไข้หวัด โรคฉี่หนู และบาดแผลติดเชื้อ สำหรับอาหารสำเร็จรูปหรือข้าวกล่องที่นำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย ขอแนะนำให้ทำอาหารจากปลาแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ไข่เค็มจะดีกว่า เพราะไม่บูดง่าย และให้ส่งอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากประชาชนได้รับควรรีบรับประทานทันที ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง และให้ใช้น้ำดื่มบรรจุขวดที่มี อย.รับรองคุณภาพ หรือน้ำต้มสุกจะดีที่สุด
View 10
06/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ