องค์การอนามัยโลก และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ช่วยสาธารณสุขไทยพัฒนาระบบบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าว นำร่องที่จังหวัดสมุทรสาครและระนอง ป้องกันโรคติดต่อที่มาพร้อมแรงงาน การวางแผนครอบครัว ผลการตรวจสุขภาพล่าสุดพบ แรงงานต่างด้าวทั่วประเทศเป็นโรคติดต่อต้องติดตามรักษากว่า 5,000 คน เป็นวัณโรคมากที่สุด และตั้งครรภ์คลอดบุตรในไทย 8,431 คน วันนี้ (20 ตุลาคม 2550) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาสุขภาพประชากรต่างด้าวของจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ว่าที่เลขาธิการอาเซียน ในฐานะหัวหน้าคณะติดตามเยี่ยมโครงการฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอ โอ เอ็ม (IOM : International Organization for Migration) เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการควบคุมป้องกันโรคติดต่อ การวางแผนครอบครัว งานอนามัยแม่และเด็กในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และครอบครัว โดยคณะได้เยี่ยมชมการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) จำนวน 200 คน และเยี่ยมชมการจัดบริการสุขภาพคนต่างด้าวที่ศูนย์บริการสุขภาพชุมชนณรงค์มิตร ตำบลมหาชัย อ.เมือง นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์แห่งองค์การสหประชาชาติ (UNTFHS : United Nations Trust Fund for Human Security) ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 - 2551 ในการปรับปรุงการจัดบริการสาธารณสุขต่างด้าว นำร่องใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก นายแพทย์วัลลภกล่าวต่อว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจัดบริการอย่างรัดกุม เพื่อให้ต่างด้าวสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น ไม่ส่งผลกระทบคนไทยซึ่งทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวอย่างดีที่สุด ทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค โดยในปี 2549 มีแรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจสุขภาพใน 62 จังหวัด จำนวน 537,164 คน ร้อยละ 81 เป็นพม่า ที่เหลือเป็นลาวและกัมพูชา ผลการตรวจพบเป็นโรคที่ต้องติดตามรักษา 5,199 คนหรือร้อยละ 1 มากที่สุดคือวัณโรค 3,314 คน รองลงมาได้แก่ซิฟิลิส 1,757 คน เท้าช้าง 71 คน โรคมาลาเรีย 38 คน เป็นโรคต้องห้ามต้องส่งกลับประเทศได้แก่ ติดสารเสพติด วัณโรคระยะติดต่อ ซิฟิลิส โรคเรื้อนและโรคเท้าช้างระยะมีอาการ พิษสุราเรื้อรัง โรคจิต 173 คน และมีหญิงตั้งครรภ์จำนวน 8,431 คน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดตามแนวชายแดนหรือมีต่างด้าวเข้ามาใช้แรงงาน เฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด และเร่งรณรงค์ให้แรงงานเหล่านี้และครอบครัวเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ โรคติดต่อที่ไทยเคยควบคุมได้ไม่ให้กลับมาระบาดอีกโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะมาลาเรีย และวัณโรค ซึ่งมีรายงานเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติมาอาศัย ด้านนายแพทย์ชัยรัตน์ เวชพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ในปี 2549 จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าว มาตรวจสุขภาพเพื่อต่อใบอนุญาตทำงานจำนวน 89,384 คน ส่วนในปี 2550 ลดลงเหลือ 72,749 คน พบป่วยเป็นโรค 147 คน ส่วนใหญ่เป็นวัณโรคปอด โรคและซิฟิลิส มีหญิงตั้งครรภ์ 1,301 คน ผลจากที่ต่างด้าวขึ้นทะเบียนน้อย ทำให้โรงพยาบาลในสมุทรสาคร ต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลฟรี ปีละ 5 – 7 ล้านบาท สำหรับการจัดบริการสุขภาพต่างด้าวในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ ดำเนินการใน 3 ตำบล ได้แก่ต.มหาชัย ต.โกรกกราก และต.ท่าฉลอม ได้เปิดศูนย์บริการสุขภาพในชุมชนต่างด้าวที่ชุมชนณรงค์มิตร ต.มหาชัย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ให้บริการเวลา 17.00 น. – 20.30 น. ครอบคลุมทั้งการรักษา การส่งเสริมสุขภาพ การวางแผนครอบครัว และการให้วัคซีนเด็ก มีผู้รับบริการเฉลี่ยวันละ 20 ราย ที่เหลืออีก 2 ตำบลจะเปิดบริการในต้นปี 2551 นอกจากนี้ ได้ใช้หลักการสาธารณสุขมูลฐานเพื่อให้คนต่างด้าวเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) กว่า 400 คน เป็นผู้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นในชุมชนต่างด้าว ลดปัญหาเรื่องการสื่อภาษา และสร้างแกนนำสุขภาพครอบครัวแล้ว 40 คนเพื่อดูแลสุขภาพครอบครัวในชุมชน 1 คนต่อ 20 ครอบครัว รวมทั้งอบรมพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวจำนวน 15 คน เป็นชาวต่างด้าว 12 คนและคนไทย 3 คน เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานในชุมชน จัดทำฐานข้อมูลชุมชนต่างด้าว การควบคุมโรคติดต่อ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดนก วัณโรค โรคเท้าช้าง ให้สุขศึกษาในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และในสถานประกอบการ และช่วยอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่บริการผู้ป่วยต่างด้าวในโรงพยาบาลสมุทรสาคร และศูนย์บริการท่าฉลอม ทำให้งานบริการสุขภาพชาวต่างด้าวประมาณ 20,000 คนใน 3 ชุมชนที่ดำเนินการ บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ฯ เป็นอย่างดี ***************************** 20 ตุลาคม 2550


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ