สาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เสริมพิเศษ 2 ทีม ไปดูแลผู้ประสบภัยที่ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างเร่งด่วนแล้ว สรุปจำนวนผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมในทุกภาคกว่า 50,000 ราย โดยพบน้ำกัดเท้ามากที่สุด รองลงมาเป็นไข้หวัด ยังไม่พบโรคระบาดร้ายแรงแต่อย่างใด เตือนผู้ปกครองหากพบเด็กเล็กเป็นไข้หวัด มีอาการเหนื่อย หายใจแรงจนชายโครงบุ๋มหรือหายใจมีเสียงดัง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลสรุปการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า หลังจากที่ฝนตกหนักมาหลายวัน ทำให้พื้นที่ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ น้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร เมื่อคืนวานนี้ ส่งผลให้มีประชาชน 86 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบนั้น วันนี้ (24 ตุลาคม 2550) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เสริมพิเศษ 2 ทีม ออกไปให้บริการตรวจรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยในพื้นที่ตำบลอิปันแล้ว ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการรักษาพยาบาลทั้งการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจทุกวัน โดยให้สถานีอนามัยทุกแห่งเปิดให้บริการประชาชนในหมู่บ้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า สรุปยอดผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากน้ำท่วมในทุกภาค ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2550 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ มีทั้งหมดจำนวน 50,995 ราย โรคที่พบอันดับ 1 ได้แก่ น้ำกัดเท้า 14,580 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 ไข้หวัด 11,339 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 ผื่นคัน 6,108 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ภาวะเครียด 4,184 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 อุบัติเหตุ 1,860 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูหนาว บางจังหวัดมีฝนตก อากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลนี้ อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ทำให้เกิดโรคต่างๆได้ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วง ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนให้หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น ไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น และพักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรนอนพักมากๆและดื่มน้ำบ่อยๆ ให้ใช้น้ำอุ่นเช็ดตัวถ้ามีไข้หรือกินยาลดไข้ หากมีไข้สูงเกิน 5 วันหรือมีอาการไอมากขึ้น ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้าหายใจเร็วหรือหายใจแรง จนชายโครงบุ๋มหรือหายใจมีเสียงดัง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


   
   


View 6    24/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ