รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงตรวจเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบทุกคนใจยังสู้เต็มร้อย โดยออกนโยบายใช้โทรศัพท์บ้าน วิทยุสื่อสาร รักษาทางไกลผู้ป่วยที่สถานีอนามัยในระบบพอ.สว.เดิม ลดความเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่และเพิ่มช่องทางด่วนการเข้าถึงการรักษาที่ใกล้บ้านของประชาชน ชี้ในรอบ 10 เดือนปีนี้ มีผู้บาดเจ็บจากความไม่สงบรักษาตัวทั้งหมดกว่า 1,000 คน นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลยี่งอ โรงพยาบาลบาเจาะ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส และที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี เพื่อให้กำลังใจแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ เมื่อบ่ายวันนี้ ( 25 ตุลาคม 2550 ) ว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบ 3 ปี มานี้ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างมาก ทำให้งานบริการเชิงรุกเช่นงานอนามัยโรงเรียน งานเยี่ยมบ้าน งานให้ภูมิคุ้มกันโรค ต้องหยุดชะงักหรือต้องชะลอไปก่อน ส่วนการรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนยังทุ่มเทการทำงานเต็มร้อย ผู้ป่วยมี 2 กลุ่มได้แก่ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในรอบ 10 เดือนในปีนี้ มีผู้บาดเจ็บในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้ารักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 1,202 ราย เฉลี่ยวันละ 4 ราย เช่นที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก พบว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์มารักษาร้อยละ 70 ของผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด และนอนรักษานานกว่าผู้ป่วยทั่วไปถึง 10 เท่าตัว นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 ได้แก่ผู้ที่เจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ได้รับการดูแลที่สถานีอนามัยในหมู่บ้าน โดยแต่เดิมนั้นเคยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตามหมู่บ้านต่างๆได้ แต่ขณะนี้มีขีดจำกัดมาก รวมทั้งยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังในหมู่บ้านที่ต้องดูแลต่อเนื่องเพิ่มขึ้น เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้สะดวกเหมือนอดีต ในปีนี้ได้ปรับการทำงานใหม่ โดยฟื้นฟูการรักษาทางไกลแบบพอ.สว.สมัยของสมเด็จย่า มาใช้เสริมระบบที่สถานีอนามัย ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางทางวิทยุหรือโทรศัพท์บ้านที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน และสั่งจ่ายยารักษาเหมือนผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง โดยจะสนับสนุนยาไปให้สถานีอนามัยอย่างเต็มที่ และหากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ก็ให้เหมารถจากหมู่บ้านและจะจ่ายค่าเหมารถให้ จะไปโรงพยาบาล ได้มอบหมายให้นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกรทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลติดตามเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อดูแลประชาชนอย่างดีที่สุดและให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัยที่สุด ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษาของโรงพยาบาลศูนย์ยะลา โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางอยู่แล้ว โดยจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องช่วยหายใจ เพื่อลดความเสี่ยงภัยในการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาข้ามจังหวัด ซึ่งในแต่ละวันโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ จะส่งผู้ป่วยรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าวเฉลี่ยแห่งละ 8 - 10 คน ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อมีเครื่องมือแล้ว ก็สามารถรักษาได้เลย ไม่ต้องส่งต่ออีก ประชาชนจะได้รับการบริการใกล้บ้านด้วย นอกจากนี้ในปี2551 นี้ คณะกรรมการจัดสรรแพทย์ประจำบ้านได้จัดโควต้าให้แพทย์ที่ใช้ทุนครบ2 ปี แล้วในพื้นที 4 จังหวัด ได้เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางเช่นสาขาศัลยกรรมกระดูก การผ่าตัด โรคหัวใจ สาขาเด็ก สาขาสูติกรรม ทั้งหมด 69 โควตาด้วยกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว ********* 25 ต.ค. 50


   
   


View 6    25/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ