รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอกณรงค์  พิพัฒนาศัย ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก   ขององค์การเภสัชกรรม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือ เร่งรัดการขึ้นทะเบียนและผลิตวัคซีนได้ภายในปี 2562 กรณีมีการระบาดของโรคระหว่างนี้ มีโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีนได้ทันที เพื่อควบคุมสถานการณ์

          วันนี้ (23 สิงหาคม 2560) ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พลเรือเอกณรงค์  พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก พร้อมเข้าเยี่ยมชมการทดสอบระบบการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ขององค์การเภสัชกรรม โดยมีนพ.นพพร  ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี คณะผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ

พลเรือเอกณรงค์กล่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในปี 2550 ประกอบด้วยงานหลัก 2 ด้านคือ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้ดำเนินการคู่ขนาน และสอดคล้องกันไป โดยการก่อสร้างโรงงานได้รับอนุมัติงบประมาณ 1,411.ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานในระดับอุตสาหกรรม มาตรฐาน WHO GMP  ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จนถึงวันนี้การดำเนินการก่อสร้างตัวโรงงาน และการติดตั้งระบบสนับสนุนต่างๆ เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการสอบคุณภาพ (Qualification) รวมถึงเครื่องจักร เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการผลิตได้ติดตั้งแล้ว 

 สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป จะเป็นขั้นตอนของการสอบระบบต่างๆอย่างเต็มรูปแบบทั้งระบบห้องผลิตและระบบสนับสนุนการผลิต ระบบเครื่องจักรผลิต และกระบวนการผลิตให้ทำงานสอดประสานกัน เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดมาตรฐาน และนำไปทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3  เพื่อเป็นข้อมูลขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไป และเมื่อโรงงานได้รับการตรวจรับรองตามมาตรฐานการผลิตที่ดี GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งหากมีความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งรัดแล้ว คาดว่า ในปี 2562 ก็จะสามารถผลิตวัคซีนกระจายสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศได้

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการลงทุนและแข่งขันสูง โรงงานแห่งนี้ยังเป็นโรงงานขนาดเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทวัคซีนขนาดใหญ่ทั่วโลก การเริ่มผลิตวัคซีนในช่วงแรกยังเป็นการผลิตด้วยกำลังการผลิตขั้นต่ำ แล้วค่อยๆขยับขึ้น เพื่อความมั่นใจในด้านคุณภาพการผลิต ดังนั้นในช่วงต้นโรงงานจะต้องแบกรับกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง และไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ จึงจำเป็นที่จะต้องหากลไกมาช่วยแก้ปัญหานี้ เพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินการได้ และเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศได้จริง โดยทั้งนี้จะได้ตั้งคณะทำงานเข้ามาศึกษาดูว่า รัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างไรบ้าง

          “ขอให้องค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ สามารถขึ้นทะเบียนและผลิตวัคซีนได้ในปี พ.ศ. 2562 เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านวัคซีน  ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย สามารถผลิตวัคซีนทั้งในสถานการณ์ปกติและในภาวะฉุกเฉินที่เกิดการระบาดใหญ่ได้” พลเรือเอกณรงค์กล่าว                                         

ด้าน นพ.นพพร  ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า  โรงงานแห่งนี้จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza Vaccine) เริ่มต้นปีละ 2 ล้านโด๊สและสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 10 ล้านโด๊ส และในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ สามารถขยายกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza Vaccine) ได้ปริมาณเพียงพอต่อการใช้ของประชากรในประเทศ และภูมิภาคอาเซียนด้วย

          ทั้งนี้ในระหว่างนี้หากเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในประเทศ โรงงานต้นแบบที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในจังหวัดนครปฐม และองค์การฯ มีใบอนุญาตผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เพื่อใช้ในการระบาดที่โรงงานต้นแบบนี้แล้ว ซึ่งถ้ามีเหตุฉุกเฉินขึ้นจริงๆ องค์การฯ จะใช้โรงงานต้นแบบที่มหาวิทยาลัยศิลปากรผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นเพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์ได้ แต่กำลังการผลิตไม่สูงมากนัก ประมาณ 2 แสนโด้สต่อเดือน  จึงอาจต้องมีการพิจารณาให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนในช่วงแรกๆ ก่อน  ดังนั้นจึงเห็นว่าการเร่งรัดให้โรงงานวัคซีนที่สระบุรีนี้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะที่นี่เป็นโรงงานซึ่งมีกำลังการผลิตสูงในระดับอุตสาหกรรม  ซึ่งจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในประชาชนได้ในวงกว้าง

  **************************************** 23 สิงหาคม 2560



   
   


View 32    23/08/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ