กระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งมีเตียงรองรับผู้ป่วย 3 โรคสำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่สมอง และการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ที่พ้นภาวะวิกฤติและมีอาการคงที่ อย่างน้อยแห่งละ 2 เตียง ช่วยลดการนอนรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ผู้ป่วยได้รับการดูแลฟื้นฟูจากทีมหมอครอบครัว สหวิชาชีพต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจนถึงบ้าน
วันนี้ (25 สิงหาคม 2560) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโรงพยาบาลประชารัฐของโรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ว่าโรงพยาบาลชุมชนถือเป็นหัวใจของระบบสุขภาพระดับอำเภอ เน้นการทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการทำงานเชื่อมต่อส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร้รอยต่อ และรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่มีอาการทางพ้นภาวะวิกฤติ และมีอาการคงที่ (Intermediate care) กลับมาดูแลต่อที่โรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะ 3 โรคสำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่สมอง และการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เพื่อช่วยลดการนอนรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ผู้ป่วยได้รับการดูแลฟื้นฟูจากทีมหมอครอบครัวสหวิชาชีพต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจนถึงบ้าน ทั้งด้านการทำกายภาพบำบัด โภชนาการ สอนญาติในการดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความพิการ หรือบางรายหายเป็นปกติกลับไปทำงานเป็นพลังของสังคมได้ โดยโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งต้องมีเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างน้อยแห่งละ 2 เตียง
นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลประชารัฐในปี 2562 โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นหลักในการทำงาน คือ เข้มแข็งจากภายใน เติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล โดยคนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ที่เน้นการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทุกภาคส่วน
สำหรับโรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้ดำเนินงานโรงพยาบาลประชารัฐภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของภาครัฐ - เอกชน - และประชาชน โดยเปลี่ยนวิธีคิดและการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงพยาบาล ให้ประชาชนร่วมบริจาคปีละ 1,000 บาท เมื่อป่วยสามารถใช้ห้องพิเศษฟรี ประสานภาคเอกชนรับผู้ป่วยที่พิการเข้าทำงาน และเชิญชวนบริษัทที่พร้อมทำธุรกิจที่ตอบแทนต่อสังคม ร่วมกับกรรมการสุขภาพอำเภอ และคลินิกหมอครอบครัว นอกจากนี้ ยังได้ทอดผ้าป่าร่วมจัดหาปัจจัยซื้อเครื่องมือแพทย์ไว้ประจำรพ.สต. ให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงยืมใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องมาโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
****************************** 25 สิงหาคม 2560
View 34
25/08/2560
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ