ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 39 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข มุ่งพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ด้วยการยกระดับโครงการ "30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" เข้าสู่ยุคดิจิทัล พร้อมจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลข้อมูลสุขภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญ อาทิ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สำนักคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) ร่วมประชุมนัดแรก
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบาย “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ผลักดันให้เกิดการรวบรวม เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับบริการได้ทุกที่ เข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองอย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลอย่างไร้รอยต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญ อาทิ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สำนักคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) ร่วมประชุมด้วย
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ให้เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1.การจัดทำแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลข้อมูลสำหรับหน่วยบริการทั่วประเทศ 2.การแต่งตั้งทีมบริกรข้อมูล นำโดยผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลสุขภาพ 3.การประกาศโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลสุขภาพเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ รวมถึงระบบการเบิกจ่าย โดยจะมีการลงนามประกาศให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและดำเนินการต่อไป และ 4.การกำหนดมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับผู้รับและผู้ให้บริการ
“กระทรวงสาธารณสุข ยึดมั่นในหลักการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ กฎหมาย และคุณภาพข้อมูล เพื่อให้การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นไปอย่างปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมาย และมีคุณภาพสูงสุด โดยการดำเนินการนี้มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และส่งเสริมการมีข้อมูลเปิด (Open Data) ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างสูงสุด โดยคำนึงถึงการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบดิจิทัลและบริการ ที่ครอบคลุมด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ความน่าเชื่อถือ และการใช้ข้อมูลอย่างมีจริยธรรม” นพ.โอภาสกล่าว
********************************* 11 กรกฎาคม 2567