รพ.กระบี่ ร่วมกิจกรรมคัดกรองตาต้อกระจกในผู้สูงอายุ โครงการรณรงค์ผ่าตัดตาต้อกระจก ร่วมกับมูลนิธิพอ.สว. ประจำปี 2567 ณ รพ.ปลายพระยา จ.กระบี่
- โรงพยาบาลกระบี่
- 293 View
- อ่านต่อ
สำนักงานสาธารณสุขจันทบุรีร่วมกับศูนย์ฝึกดับเพลิงและกู้ภัยโรงกลั่นน้ำมัน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชมรมกู้ภัยประเทศไทย จัดอบรม EMS-HAZMAT
เมื่อวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2567 สำนักงานสาธารณสุขจันทบุรี ร่วมกับศูนย์ฝึกดับเพลิงและกู้ภัยโรงกลั่นน้ำมันบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และชมรมกู้ภัยประเทศไทย ได้จัดการฝึกอบรมการจัดการอุบัติภัย การกู้ภัยสารเคมี และระบบการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์อุบัติภัยสารเคมี (EMS-HAZMAT) ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพตำบล กู้ภัยสว่างกตัญญูธรรมสถานจันทบุรี และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 110 คน
การอบรมครั้งนี้ มีวิทยากรจากศูนย์ฝึกดับเพลิงและกู้ภัยโรงกลั่นน้ำมันบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และวิทยากรจากชมรมกู้ภัยประเทศไทยมาให้ความรู้และจัดการฝึกซ้อมแผน มุ่งเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ได้เรียนรู้ชนิดของสารเคมี การดูแลรักษาผู้ป่วยที่รับสารเคมี และการสวมใส่ชุดที่ใช้ในการเข้าที่เกิดเหตุที่มีการรั่วไหลของสารเคมี
ระหว่างการฝึกได้มีการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุว่ามีรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำชนโรงน้ำแข็ง ทำให้สารเคมีไม่ทราบชนิดรั่วไหลออกมา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมต้องแบ่งหน้าที่กันทำงาน ทั้งการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ การเข้าเผชิญเหตุด้วยชุดป้องกันสารเคมีคลุมทั้งตัวชนิด Level A และ B การกำหนดพื้นที่อันตราย (Exclusion Zone หรือ Hot Zone) เป็นบริเวณที่เกิดเหตุ และรวมถึงบริเวณที่มีการปนเปื้อนจากไอระเหยของสารเคมีและวัตถุอันตราย หรือบริเวณที่มีการไหลนองของสารเคมีและวัตถุอันตราย
การเข้าไปในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินและหน่วยปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมี (Hazmat Team) จะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมในระดับ A หรือ B ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัตถุอันตรายนั้นๆ ระยะและขนาดของพื้นที่อันตรายขึ้นกับชนิดของสารเคมีและวัตถุอันตรายที่รั่วไหล และความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
พื้นที่ปนเปื้อนวัตถุอันตราย (Decontamination Zone หรือ Warm Zone) เป็นบริเวณควบคุมและขจัดสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ปนเปื้อนจากการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ปนเปื้อน ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่อันตรายและพื้นที่สนับสนุน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีและวัตถุอันตรายนี้จะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลในระดับการปกป้องที่น้อยกว่าพื้นที่อันตราย พื้นที่สนับสนุน (Support Zone และ Cold Zone) เป็นบริเวณที่ไม่มีสารเคมีและวัตถุอันตรายปนเปื้อน และเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการในพื้นที่เกิดเหตุ
การกำหนดระยะห่างของแต่ละเขตนั้นอยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งการ โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากชนิดสารเคมีที่รั่วไหลเป็นสำคัญ และทิศทางลม โดยเฉพาะสารเคมีที่เป็นประเภทแก๊ส จะกำหนดระยะที่ไกลกว่าสารประเภทอื่นๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของสารเคมีและวัตถุอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม และเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ รวมทั้งกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ให้เข้าในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของวัตถุอันตราย พร้อมคัดแยกผู้ป่วย การจัดรถโรงพยาบาล รถกู้ชีพ รถกู้ภัย เข้ารับผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลต่างๆ