กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 13 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 4 วิธีเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะประชาชนพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคเหนือ และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 ประกาศแจ้งเตือนหลายพื้นที่ของประเทศไทยอาจเสี่ยงเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมในพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และตอนบนของภาคตะวันออกฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม อาจส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังอันตรายจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางในบริเวณที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมโดยปฏิบัติตน ดังนี้ 1) ติดตาม ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางเสียงตามสาย วิทยุ โทรทัศน์ หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ 2) เตรียมพร้อม ยกสิ่งของขึ้นชั้นบนหรือที่สูง ยกเบรกเกอร์ในจุดที่น้ำท่วมถึงป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานท้องถิ่น เตรียมโทรศัพท์มือถือพร้อมแบตเตอรี่สำรองหรือชาร์ทไฟให้เต็ม อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรคประจำตัว และยาสามัญประจำบ้าน พร้อมสำหรับการอพยพไปยังพื้นที่/ สถานที่ปลอดภัยที่ภาครัฐเตรียมไว้ทันทีเมื่อได้รับการแจ้งอพยพ
“3) ดูแลและปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย หากต้องลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ หลังเดินลุยน้ำ ต้องล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง ไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลากหรือพื้นที่น้ำท่วมขัง หากเห็นสายไฟชำรุด อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด ควรแจ้ง 191 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะน้ำท่วม ผู้สูงอายุ เด็ก และคนในครอบครัวต้องป้องกันตนเอง โดยไม่สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ หลีกเลี่ยงหรืออยู่ใกล้ทางน้ำหลาก และระวังสัตว์มีพิษกัด ต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หากอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลของตนเองและคนในครอบครัว เช่น กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ไม่กินอาหารที่มีกลิ่นหรือรสผิดปกติ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อเข้าห้องส้วมและก่อนกินอาหาร สวมหน้ากากอนามัยในจุดอพยพป้องกันโรคติดต่อ และ 4) ฟื้นฟูสภาพหลังผ่านวิกฤตน้ำท่วมฉับพลัน เมื่อน้ำลดและกลับเข้าบ้านได้ ให้รีบทำความสะอาดบ้าน ที่นอน หมอน มุ้ง เสื้อผ้าป้องกันเชื้อโรคที่มากับน้ำและเชื้อราจากความชื้น กำจัดเก็บเศษขยะ ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน ป้องกันการหมักหมมสิ่งสกปรกและสัตว์มีพิษ และควรหาทางป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยปรับพื้นที่บ้านให้สูง หลีกเลี่ยงวางสิ่งของ เครื่องใช้ไฟฟ้าบริเวณชั้นล่างที่น้ำท่วมถึง ย้ายเบรกเกอร์ไปชั้นบน สำรองน้ำดื่ม น้ำสะอาดไว้ใช้หากประสบภัยน้ำท่วมและออกจากบ้านไม่ได้ ทั้งนี้ กรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชาชนในพื้นที่ประสบภัย จึงมอบหมายให้ทีมภารกิจปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีม SEhRT) ของศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ ร่วมประเมินความเสี่ยง และสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งในชุมชนประสบภัยน้ำท่วม และพื้นที่ศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมทั้งเร่งสื่อสาร สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำการมีพฤติกรรมอนามัยที่ดี ดูแลสุขภาพ และป้องกันความเสี่ยงที่มาจากภัยน้ำท่วมของตนเองและคนในครอบครัว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 31 กรกฎาคม 2567