วันนี้ (21 สิงหาคม 2567) แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มอบหมาย แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าว “สธ. ผนึกพันมิตร Dengue -zero พร้อมย้ำมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน หวังลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เผยผู้เสียชีวิตพุ่งทะลุ 46 คน” โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ฯ และประธานกรรมการความร่วมมือ ฯ นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราขพยาบาล นายจรัส รัชกุล ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย นายแพทย์สมควร หาญพัฒนชัยกูร เลขาธิการนายกสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย นายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์ เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา/กรรมการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ /ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมการความร่วมมือ ฯ ณ โรงแรมอีสติน พญาไท กรุงเทพมหานคร

           แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกพบได้ในทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น ซึ่งผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กทารก และผู้สูงอายุ มีภาวะอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง หรือรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inammatory หรือ NSAIDs) โดยเฉพาะผู้สูงอายุ พบว่าเมื่อป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด กรมอนามัยมีคำแนะนำและข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ดังนี้ 1) ป้องกันตนเองจากยุงลายกัด โดยนอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด ใช้ยากันยุงจากธรรมชาติ สวมเสื้อแขนยาวเมื่อทำงานในสวน และทายากันยุง โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก ต้องป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน 2) กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเก็บบ้านให้สะอาด จัดเก็บเสื้อผ้า ไม่ให้มีมุมอับ เก็บขยะรอบบ้าน ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ และล้างแจกันทุกสัปดาห์ และ 3) สังเกตอาการโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอยเฉียบพลัน หน้าแดง ปวดศีรษะ มีจุดแดง ให้รีบพบแพทย์ ห้ามใช้ยาประเภท NSAIDs หากมีผู้ป่วยในครอบครัว ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและปฏิบัติตามคำแนะนำ

           “ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้ส่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ สู่มือประชาชน เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ผ่านผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูงทั่วประเทศ และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรและเอกชน เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรคไข้เลือดออกในหลากหลายมิติ ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน กลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ที่นำไปสู่การป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยมาตรการการเฝ้าระวังและป้องกันไข้เลือดออก และให้เห็นถึงคุณค่าของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

                                                ***                              

 กรมอนามัย / 21 สิงหาคม 2567



   
   


View 433    21/08/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย