รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลประชุม WHO-RC77 ไทยพร้อมสนับสนุนแผนงานอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดรับนโยบายทั้งสุขภาพดิจิทัล สุขภาพจิต และความท้าทายด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่วนประชุมโต๊ะกลมมีการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี มุ่งสร้างระบบบริการสุขภาพที่ตอบสนองวัยรุ่น และยังได้รับใบประกาศนียบัตรว่า รัฐบาลไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายระดับโลกภายในปี 2573 เกี่ยวกับการลดอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อัตราการตายของทารกแรกเกิดและอัตราการตายคลอด

วันนี้ (10 ตุลาคม 2567) นพ.วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 77 (Seventy – seventh Session of the WHO Regional Committee for South-East Asia : RC77) เมื่อวันที่ 7 – 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยได้รับฟังผลการดำเนินงานในรอบปี 2566 จากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) พร้อมทั้งได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ชื่นชมความสำเร็จของการดำเนินงานในภูมิภาค เช่น การห้ามเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานที่น่าชื่นชมในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน เป็นต้น และเน้นย้ำความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตที่ปัจจุบันส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น โดยพร้อมสนับสนุนแผนงานของ WHO-SEARO ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงฯที่เน้นเรื่องสุขภาพดิจิทัล สุขภาพจิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดความท้าทายด้านสุขภาพอุบัติขึ้นใหม่ เช่น ความชุกของโรคฉี่หนู โดยประเทศไทยเห็นความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งควรมีการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะภูมิภาคที่มีความเปราะบาง และยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกต่อไป

นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “ระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของวัยรุ่น” ไทยได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพเด็ก วัยรุ่น ครอบครัว ชุมชน ให้มีความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพ สุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ สุขภาพจิต การให้คำปรึกษาในการดูแลตนเอง ครอบครัว และการแนะนำบอกต่อเพื่อน ครอบครัว และชุมชน โดยมีระบบบริการที่เป็นมิตร ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง รวมถึงมีบริการให้คำปรึกษาสุขภาพออนไลน์ สำหรับกรณีความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ไทยมีศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง หรือ “ศูนย์พึ่งได้”
ที่ให้บริการครบวงจรทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข กฎหมาย และสวัสดิการสังคม หรือกรณีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศก็มีบริการคลินิก LGBTQ+ ในโรงพยาบาล โดยที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี เพื่อมุ่งให้เกิดการเสริมสร้างระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของวัยรุ่น และไทยยังได้รับใบประกาศนียบัตรว่ารัฐบาลไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายระดับโลกภายในปี 2573 เกี่ยวกับการลดอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อัตราการตายของทารกแรกเกิด และอัตราการตายคลอด

นอกจากนี้ ยังได้หารือทวิภาคีกับ Mr. Kunta Wibawa Dasa Nugraha ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการขอย้ายภูมิภาคองค์การอนามัยโลกของอินโดนีเซียจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังแปซิฟิกตะวันตก โดยไทยยินดีทำงานร่วมกับอินโดนีเซียและประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ โรคเวชศาสตร์เขตร้อน การจัดการวัณโรค และการจัดทำข้อตกลงเพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงหารือทวิภาคีกับ Ms. Saima Wazed ผู้อำนวยการ WHO-SEARO ถึงความร่วมมือพัฒนาให้กรมสุขภาพจิตเป็นศูนย์ข้อมูลหรือศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านสุขภาพจิตชุมชน การจัดตั้งศูนย์ความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และความร่วมมือกับประเทศสมาชิก WHO-SEARO

*********************************************** 10 ตุลาคม 2567



   
   


View 201    10/10/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ