วันนี้ (11 ตุลาคม 2567) นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้บริหารตลาดเสรีมาร์เก็ต เดอะไนน์ พระราม 9 และประชาชนเข้าร่วมงาน ณ ตลาดเสรีมาร์เก็ต เดอะไนน์ พระราม 9
เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

        นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN : UNITED NATIONS) ได้กำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักให้ประชากรทั่วโลก ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเสียค่าใช้จ่ายน้อยในการป้องกันโรคติดต่อ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นวิธีที่ง่ายในการให้ประชาชนปฏิบัติให้เป็นพฤติกรรมสุขภาพและเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันล้างมือโลก ประจำปี 2567 "มือสะอาดสำคัญอย่างไร Why are clean hands still important?” เพื่อรณรงค์การล้างมือให้สะอาดถูกสุขอนามัยทั่วโลก เพราะประชาชนส่วนใหญ่นั้นยังล้างมือไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากการปฏิบัติกิจวัตรในแต่ละวัน "มือ" เป็นตัวการสำคัญที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เพราะเมื่อมือสัมผัสกับเชื้อที่อยู่ในข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ และใช้มือนั้นสัมผัสอาหาร ปาก ตา ก็สามารถนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โดยเชื้อเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น โรคท้องร่วง โรคมือเท้าปาก โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น สำหรับ คำขวัญวันล้างมือโลก ประจำปี 2567 คือ “มือสะอาดสำคัญอย่างไร Why are clean hands still important?”

        “กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวน ภาครัฐ  ภาคเอกชน และประชาชน ประสานพลังความร่วมมือร่วมรณรงค์การล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ให้ถูกวิธี 7 ขั้นตอน ซึ่งการล้างมือเป็นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายน้อย และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดี ประชาชนทุกกลุ่มวัยจึงควรมีสุขอนามัยที่ดี โดยภาครัฐ และภาคเอกชน ต้องร่วมกันสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดจุดบริการล้างมือในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นการรณรงค์และกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชากรทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธีเป็นประจำตลอดจนเกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคที่สำคัญได้อีกทางหนึ่ง รวมไปถึงเป็นการกระตุ้นส่งเสริมการสร้างพฤติกรรม “การล้างมือให้ถูกสุขอนามัย ส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

     ด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือทั่วประเทศของกรมอนามัย ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 1 ถึง 31 ตุลาคม 2566 จำนวน 12,963 ราย พบว่าช่วงอายุ 25 - 54 ปี ล้างมือมากที่สุด หรือร้อยละ 61.91 ประชาชนมีการล้างมือทุกครั้งมากที่สุด หลังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น น้ำมูก น้ำลาย ขยะ หรือร้อยละ 96.10 รองลงมาคือ หลังจากออกจากห้องส้วม หรือร้อยละ 95.71
ถัดมาคือก่อนเตรียม ปรุง ประกอบอาหาร หรือร้อยละ 89.93 โดยส่วนใหญ่มีการล้างมือด้วยน้ำและสบู่มากที่สุด หรือร้อยละ 91.04 รองลงมาคือใช้แอลกอฮอล์เจล หรือร้อยละ 45.97 และทราบวิธีการล้างมือที่ถูกต้องว่ามี 7 ขั้นตอน ถึงร้อยละ 80.73 รวมถึงช่องทางการรับทราบวิธีการล้างมือที่ถูกต้องมากที่สุดคือ โปสเตอร์ ร้อยละ 58.11 รองลงมาคือ โทรทัศน์ ร้อยละ 51.44 และเฟสบุ๊ค ร้อยละ 48.12 และได้ทราบวิธีการล้างมือจากเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข การประชุม อบรม ประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย เป็นต้น

        “ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ยึดหลักล้างมือ 7 ขั้นตอน 2 ก่อน 5 หลัง ล้างมือ 2 ก่อน คือ ล้างมือก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร ล้างมือ 5 หลัง คือ หลังเข้าห้องส้วม หยิบจับ สิ่งสกปรก เยี่ยมผู้ป่วย สัมผัสหรือเล่นกับสัตว์ และหลังกลับมาจากนอกบ้าน โดยการล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ 7 ขั้นตอน ทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง และมุ่งเน้นให้มีการรณรงค์ล้างมือในที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้า ศูนย์อาหารตลาดสด ฯลฯ เพื่อเป็นการกระตุ้น ส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชน หันมาสนใจการล้างมือควรล้างให้ถูกวิธีและกระทำบ่อย ๆ ให้เป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของตัวเรา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 11 ตุลาคม 2567



   
   


View 218    11/10/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย