ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 99 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบเพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. แบบ Fee Schedule และปรับระบบบริการผู้ป่วยนอก (OPD) ให้เอื้อต่อการสั่งจ่ายของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการ ใน 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 10/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงเข้าร่วม โดยก่อนการประชุมได้มีพิธีมอบโล่รางวัลแบบอย่างการดำเนินงานที่ดีด้านโรคไม่ติดต่อปี 2567 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัล NCD Clinic Plus Awards ผลงานดีเด่นระดับประเทศ ปี 2567 ประเภทโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลขนาดกลาง และโรงพยาบาลขนาดเล็ก รวม 9 รางวัล 2.รางวัลรูปแบบบริการ (Service Model) เชิงนวัตกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 3 รางวัล และ 3.รางวัลผลงานคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอที่เป็นผลงานดีเด่นระดับประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคไตในชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จำนวน 4 รางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการเบิกจ่ายยาสมุนไพรในระบบ มีเพียงร้อยละ 2.21 และพบปัญหาการเบิกจ่ายยาสมุนไพรใน สปสช. ขาดทุน ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบสนับสนุนแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพและทิศทางการขับเคลื่อนสมุนไพรในระดับประเทศ “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไป หาหมอ” ได้แก่ 1.เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ รวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. แบบ Fee Schedule และ 2.ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการในผู้ป่วย 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 10 ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยตั้งเป้าปี 2568 เพิ่มมูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพร เป็น 1,500 ล้านบาท และ 3,000 ล้านบาท ในปี 2569
สำหรับ 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ, ไข้หวัด/โควิด 19, ท้องอืด ท้องเฟ้อ, ท้องผูก/ริดสีดวงทวารหนัก, วิงเวียน/คลื่นไส้ อาเจียน, ชาจากอัมพฤกษ์-อัมพาต, ผิวหนัง/แผล, นอนไม่หลับ, ท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ) และเบื่ออาหาร ส่วนยาสมุนไพร 32 รายการ ได้แก่ ยาไพล (ครีม), เถาวัลย์เปรียง/สารสกัด/ยาสารสกัด เถาวัลย์เปรียงสูตรตำรับที่ 1 และ 2, ยาประคบ, ยาสหัศธารา, ยาปราบชมพูทวีป, ยาฟ้าทะลายโจร/สารสกัด, ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม สูตรตำรับที่ 1 และสูตรตำรับ 2, ประสะมะแว้ง, ยาธาตุอบเชย, ยาขมิ้นชัน, ยามะขามแขก,ยาผสมเพชรสังฆาต สูตรที่ 1 และ สูตรที่ 2, ยาขิง, ยาหอมนวโกศ, ยาว่านหางจระเข้, ยาเปลือกมังคุด, ยาพญายอ, ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง, ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาทำลายพระสุเมรุ, ยาศุขไสยาศน์, ยาน้ำมันกัญชา (THC) 2.0 mg/ml, ยาน้ำมันกัญชาทั้งห้า, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC มากกว่าหรือเท่ากับ 20:1, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC ในอัตราส่วน 1:1, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา (THC) ไม่เกิน 0.5 mg/drop /ไม่เกิน 3 mg/drop , ยาหอมเทพจิตร, ยากล้วย, ยาเหลืองปิดสมุทร, มะระขี้นก, ยาพริก และ ยาเขียวหอม
“ส่วนความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้จัดส่งข้อมูลการขอจัดตั้งกองทุนฯที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้กรมบัญชีกลางแล้ว และจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ในวันที่ 11 พฤศจิกายน นี้ พร้อมจัดทำกฎหมายลำดับรอง 27 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา” นายสมศักดิ์กล่าว
********************************************** 6 พฤศจิกายน 2567