วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีพบการระบาดของโรคไอกรนในโรงเรียนย่านปทุมวัน กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา ได้ลงสอบสวนโรคร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และสำนักงานเขตปทุมวัน เบื้องต้นพบว่า เด็กนักเรียนมีอาการป่วยจึงไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วยืนยันป่วยโรคไอกรน การสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสเพิ่มเติมพบว่าเพื่อนในโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และกลุ่มที่มีกิจกรรมร่วมกัน มีอาการป่วยแต่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งสาเหตุของการแพร่ระบาด นักเรียนอยู่รวมในห้องแอร์ปรับอากาศ และทำกิจกรรมร่วมกัน ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคติดตามพบผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ตรวจยืนยันพบเชื้อ รวมทั้งสิ้น 20 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามและควบคุมโรคในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติม 
          โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ ที่พบมานานแล้ว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ และมีวัคซีนป้องกัน โรคนี้สามารถติดต่อได้ผ่านการไอ จาม และการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น โดยสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 พฤศจิกายน 2567 จากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล กองระบาดวิทยา  (Digital Disease Surveillance: DDS) พบผู้ป่วย 1,290 ราย อัตราป่วย 44.74 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.16 พบรายงานผู้ป่วยมากที่สุดในภาคใต้ โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน  1,066 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ ยะลา 575 ราย รองลงมา ได้แก่ ปัตตานี 199 ราย และนราธิวาส 198 ราย ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ 0 – 4 ปี จำนวน 795 ราย รองลงมา 5 – 9 ปี 144 ราย และ 10 – 14 ปี 42 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่อาจจะได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรง ส่วนกลุ่มเด็กโต และผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดี ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน (รวมคอตีบ บาดทะยัก) ครบตามกำหนด ตั้งแต่ตอนเล็กๆ แล้ว หากป่วยอาการจะไม่รุนแรง มีไข้ น้ำมูก ไปรักษาก็จะดีขึ้น  อย่างไรก็ตามหลังอายุ 10 ปี ระดับภูมิคุ้มกันอาจเริ่มตกลง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็จะช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยได้ 


          แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับวัคซีนที่อยู่ในโปรแกรมของภาครัฐ (รวมไอกรน) เน้นความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ในเด็กอายุ น้อยกว่า 5 ปี ต้องให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 ของทุกพื้นที่ (ยกเว้นหัด เน้นความครอบคลุมมากกว่า ร้อยละ 95) ซึ่งจะสามารถป้องกันการระบาดได้ แต่ในขณะนี้พบว่าบ้างพื้นที่ที่มีการระบาดโรคไอกรน มีการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุม จึงขอเน้นย้ำผู้ปกครอง พาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนให้ครบตามกำหนด สำหรับเด็กเล็ก ต้องได้รับตั้งแต่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และเข็มกระตุ้นตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป สามารถพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนฟรี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ สำหรับเด็กโต อายุมากกว่า 10 ขวบขึ้นไป และผู้ใหญ่สามารถพิจารณาการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนไอกรนในรูปแบบที่เหมาะสมกับอายุ ต่อไป 
          นอกจากวัคซีนแล้ว การป้องกันโรคไอกรนสามารถใช้วิธีปฏิบัติ เช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่นตามคำแนะนำของแพทย์ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ในผู้สัมผัสผู้ป่วยไอกรน ควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อพิจารณาเรื่องยาป้องกันในผู้สัมผัสใกล้ชิดและมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง และควรสังเกตติดตามอาการภายใน 3 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

**********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567


 



   
   


View 156    13/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ