สบส. หนุน อสม. สู้โรค NCDs ร่วมส่งต่อความรู้ และคัดกรองสุขภาพคนไทย

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมต่อสู้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ตั้งเป้าส่งต่อความรู้การนับคาร์บสู่ประชาชน 20 ล้านคน และคัดกรองสุขภาพประชาชนอายุ 35 ปีขึ้น ไป 10 ล้านคน ก่อนวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส.ให้สัมภาษณ์ว่า ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2568 มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพทุกมิติเพื่อลดโรค NCDs โดยการเสริมศักยภาพความเข้มแข็ง อสม. ซึ่งกรม สบส. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการส่งเสริม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมการดำเนินงานสุขภาพภาคประชาชน โดยมีเครือข่าย อสม. 1.07 ล้านคนทั่วประเทศ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุชภาพประชาชน ได้จัดกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” เพื่อสนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 อสม. ทั้ง 1.07 ล้านคน ทั่วประเทศ ก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้สามารถนับคาร์บได้ด้วยตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้โรค NCDs กรม สบส. ก็ได้มีแนวทางการส่งเสริมสนับสนุน อสม. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแอปพลิเคชัน “สมาร์ท อสม.” (Smart อสม.) เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานและรายงานผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ 1. อสม. นับคาร์บตนเอง และบันทึกผลการนับคาร์บผ่านแอปพลิเคชัน “สมาร์ท อสม.” 2. อสม. สามารถคัดกรองโรค NCDs ให้ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด และ 3. อสม. สามารถให้คำแนะนำเรื่องการนับคาร์บแก่ประชาชนได้ ซึ่งในขั้นต่อไปในการดำเนินงานการต่อสู้โรค NCDs กรม สบส. ได้ตั้งเป้าหมายให้ อสม. ทุกคน ออกไปสอนประชาชนนับคาร์บ และคัดกรองโรค NCDs ตนเอง ร้อยละ 100 ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 256 และขยายผลลงไปสู่ชุมชนโดยการสอนนับคาร์บให้กับประชาชน จำนวน 20 ล้านคน และคัดกรองโรค NCDs ให้ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคน ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2568 ซึ่งตรงกับวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

“สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งพบจากการคัดกรองโรค NCDs ในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 7,531,412 คน (ข้อมูลจากฐานข้อมูลประชากร 3 หมอรู้จักคุณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568) พบประชาชนมีดัชนีมวลกาย (BMI) เกินมาตรฐาน จำนวน 4,127,973 คน คิดเป็นร้อยละ 54.81 ค่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์เริ่มสูง – สูงมาก จำนวน 3,898,366 คน คิดเป็นร้อยละ 51.77 และระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับเสี่ยง-ป่วย จำนวน 1,945,903 คน คิดเป็นร้อยละ 25.84  แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม  ซึ่งจะต้องอาศัยการดำเนินงานเชิงรุกในการลงให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ดีอย่างยั่งยืน  การดำเนินงานของ อสม. ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบในการดูแลสุขภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญในการลดและขจัดโรค NCDs ของชุมชนทั่วไทย” นายแพทย์อดิสรณ์ฯ กล่าว



   
   


View 47    18/02/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ