กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนให้ทุกโรงพยาบาลขับเคลื่อนใช้ยาอย่างสมเหตุผล ลดการใช้ยาปฏิชีวนะและยาเกินความจำเป็น ตั้งเป้าลดการใช้ยาปฏิชีวนะร้อยละ 20 ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 ภายในปี 2564
วันนี้ (18 กันยายน 2560) ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสาธารณสุขของเขตตรวจราชการที่ 5 และจังหวัดสุพรรณบุรี ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการใช้ยามูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้ยาเกินความจำเป็น 2,370 ล้านบาท ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อดื้อยา 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,000 คน เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาการใช้ยาในประเทศที่มีมูลค่าปีละกว่าแสนล้านบาท จึงมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อให้การใช้ยาในประเทศมีประสิทธิภาพ ประชาชนปลอดภัย และคุ้มค่ากับงบประมาณของประเทศ
ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายชัดเจนบรรจุการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาที่ 15 เน้นใช้ยาได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และสร้างการตระหนักรู้แก่ทุกคนที่อยู่ในวงจรการใช้ยา เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย ลดปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ลดค่าใช้จ่ายด้านยา โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) ควบคู่ไปกับการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ตั้งเป้าหมายระหว่างปี 2560-2564 ลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะลงร้อยละ 20 ลดการเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 และลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่เหมาะสม คาดว่าจะช่วยประเทศชาติประหยัดงบประมาณจากการใช้ยาที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยปีละ 10,000 ล้านบาท
ขณะนี้มีโรงพยาบาลผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลที่ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ขั้นที่ 1 จำนวน 372 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 41.56 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลมากขึ้น โดยเฉพาะในโรคหวัด เจ็บคอ มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะร้อยละ 14.94 ส่วนอัตราการใช้ยาในโรคอุจาระร่วงเฉียบพลันลดลงจากร้อยละ 68.24 ในปี 2559 เหลือร้อยละ 28.32 ในปี 2560
ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีมีโรงพยาบาลผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลที่ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ขั้นที่ 1 คิดเป็น 100เปอร์เซ็นต์ และรพ.สต.ผ่านเกณฑ์ หน่วยบริการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ ร้อยละ 40 สามารถประหยัดค่ายาปฏิชีวนะได้ถึง 8 ล้านบาท ในปี 2561 จะพัฒนาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลทั้ง 10 รพ. เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวาน โดยลดการใช้ยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) สำหรับรักษาโรคเบาหวานในโรงพยาบาลบางปลาม้า และโรงพยาบาลด่านช้าง ลดการติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือดลงร้อยละ 10 พัฒนาการใช้ยาปฏิชีวนะใน รพ.สต.อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พัฒนาสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทุกระดับเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะและกำกับติดตามทุก 3 เดือน
************************************************* 18 กันยายน 2560