สธ.เขต 7 วางนโยบายแก้ปัญหา รพ.ขอนแก่นขาดสภาพคล่อง เน้นใช้งบคุ้มค่า บริการดี ระบบโปร่งใส คาด 3-6 เดือนการเงินดีขึ้น
- สำนักสารนิเทศ
- 228 View
- อ่านต่อ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 วางนโยบายแก้ปัญหา รพ.ขอนแก่น ขาดสภาพคล่อง 1,237 ล้านบาท เน้นใช้งบคุ้มค่า บริการดี ระบบโปร่งใส โดยเพิ่มรายได้จากบริการเฉพาะทางคุณภาพสูง เบิกจ่ายแม่นยำถูกระเบียบ ลดใช้ยา/แล็บ/เอกซเรย์ซ้ำซ้อน จ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานอย่างเป็นธรรม คาด 3-6 เดือน การเงินหมุนเวียนดีขึ้น 6-12 เดือนมีรายได้เพิ่มขึ้น และระยะยาวช่วยลดหนี้สะสม 30-50%
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 กล่าวถึงการติดตามแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องในพื้นที่ ว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์และวางนโยบายแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขอนแก่นขาดสภาพคล่องสะสม 1,237 ล้านบาท จึงได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาภายใต้หลักการ “ใช้งบอย่างคุ้มค่า – บริการดี – ระบบโปร่งใส” โดยดำเนินมาตรการต่างๆ ไปพร้อมกัน ได้แก่ 1) ใช้ศักยภาพที่มีเพิ่มรายได้เข้าโรงพยาบาล ด้วยการเปิดบริการเฉพาะทางคุณภาพสูงในราคาภาครัฐ เช่น ตรวจสุขภาพ/คลินิกพิเศษเฉพาะทาง ซึ่งจะไม่ให้กระทบกับการบริการปกติ 2) การเบิกจ่ายต้องรวดเร็ว แม่นยำ ครบถ้วน และถูกระเบียบ โดยเชื่อมระบบข้อมูลบริการของโรงพยาบาลกับระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (FDH) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเบิกจ่ายถูกตีกลับ และตั้งทีมตรวจสอบติดตามรายได้ที่ตกค้าง
นพ.เอกชัยกล่าวต่อว่า 3) ปรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน/สิ้นเปลือง เช่น การรวมคลังยา/เวชภัณฑ์ย่อย ลดการตรวจแล็บและเอกซเรย์ซ้ำโดยไม่จำเป็น 4) ทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ให้เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและให้ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วม โดยผูกการจ่ายกับผลลัพธ์การดำเนินงาน เช่น รายรับที่สร้างเข้าโรงพยาบาล ความพึงพอใจผู้ป่วย เป็นต้น 5) สื่อสารกับบุคลากรทุกระดับอย่างตรงไปตรงมา ให้ทราบสถานการณ์ที่แท้จริงและมีส่วนร่วมกันในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และ 6) ติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ โดยมีทีมกำกับติดตาม Dashboard รายไตรมาส เพื่อปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสม
“หลังดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว คาดว่าในระยะสั้น 3-6 เดือนแรก โรงพยาบาลขอนแก่นจะมีเงินหมุนเวียนในระบบดีขึ้น เบิกเงินจากกองทุนได้มากขึ้น มีระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รู้สถานะการเงินแบบวันต่อวัน ส่วนระยะกลาง 6–12 เดือน จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากบริการพิเศษ การจ่ายค่าตอบแทน P4P โปร่งใสและยุติธรรม การเบิกเงินจากกองทุนต่างๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และในระยะยาว 1-3 ปีจะช่วยลดหนี้สะสมลงได้อย่างน้อย 30–50% โรงพยาบาลมีสถานะการเงินที่มั่นคง และเป็นต้นแบบของการพลิกฟื้นวิกฤตสภาพคล่องโรงพยาบาลในระดับประเทศ” นพ.เอกชัยกล่าว
********************************* 5 เมษายน 2568