“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนนโยบายการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ดวงตา บูรณาการ ภาครัฐและเอกชน กำหนดให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ทุกแห่ง และโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม จัดศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ดวงตา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะบริจาค ดวงตา เพิ่มการปลูกถ่ายอวัยวะ เพิ่มการเข้าถึงให้กับประชาชนในภูมิภาค
ที่โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จังหวัดกรุงเทพ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ” โดยมี ผู้บริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หัวหน้าศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ สภากาชาดไทย นายกสมาคมปลูกถ่าย อาจารย์ตัวแทนจากราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และพยาบาลผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ เข้าร่วมประชุม
นายแพทย์โสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุให้เป็น Service plan สาขาที่ 13 และศูนย์บริการที่เป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ สาขาที่ 5 การดำเนินงานตามนโยบายสนับสนุนการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ดวงตา ที่ผ่านมา กำหนดให้ รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป ทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม มีศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ดวงตา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะบริจาค และเพิ่มการปลูกถ่าย และเพิ่มการเข้าถึงให้กับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินงาน ทั้งหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดภายนอกกระทรวง และภาคีเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานเอกชน ทำให้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอวัยวะบริจาคลดลง ผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะได้รับการปลูกถ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม สามารถช่วยต่อชีวิตให้ประชาชนผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะ และช่วยให้ผู้มีกระจกตาพิการได้กลับมามีดวงตาสดใส ได้เป็นจำนวนมากขึ้น
นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ดวงตา ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พบว่าในปี 2559 มีผู้รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะถึง 5,581 รายและผู้ที่รอการปลูกถ่ายกระจกตา ถึง 11,007 ราย นอกจากนี้ โครงการ “ดวงตาสดใส เทิดไท้ 80 พรรษา มหาราชินี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ที่จะช่วยปลูกถ่ายกระจกตาให้กับผู้มีกระจกตาพิการให้ได้ 8,400 ดวงตา ภายในปี 2564 ด้วย ดังนั้น จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง และในแผนพัฒนาในปี 61 ก็จะเน้นการรับบริจาคอวัยวะ และดวงตา พัฒนา ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant center) และ ทีมนำอวัยวะออก (Regional Harvesting Team) เพื่อให้กระจายในเขตสุขภาพ รวมไปถึงการวางแผนสนับสนุนทรัพยากร ความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมายต้องขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันดาเนินงานนี้ เพื่อช่วยต่อชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ต่อไป
*********************** 19 กันยายน 2560