กระทรวงสาธารณสุข กำชับสถานบริการสาธารณสุขดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุทกซูรีต่อเนื่อง และเฝ้าระวังโรคหลังน้ำลด โดยเฉพาะโรคฉี่หนู แนะนำประชาชนสังเกตอาการ หากมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่อง โคนขา ให้รีบพบแพทย์
 
          นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุดีเปรสชัน“ทกซูรี” (DOKSURI) ว่า  ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิว่า  สถานการณ์น้ำท่วมอำเภอเมืองชัยภูมิครั้งนี้ โรงพยาบาลได้ดำเนินการตามแผนป้องกันสถานบริการที่เตรียมการไว้ ทำให้ไม่มีน้ำท่วมในบริเวณโรงพยาบาล ในวันนี้บริเวณรอบนอกและถนนทางเข้าโรงพยาบาลน้ำลดลงแล้ว ประชาชนเดินทางมารับบบริการได้ปกติอย่างไรก็ตาม พาได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุข ในพื้นที่ที่ยังมีฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำหลาก ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินการตามแผนรับมือน้ำท่วมที่วางไว้และแผนการจัดบริการ เพื่อให้การดูแลประชาชนและผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเต็มที่ สำหรับในพื้นที่ที่น้ำลด ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังโรคหลังน้ำลด เช่น อุจจาระร่วง ตาแดง และรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เพื่อป้องกันการป่วยและการเสียชีวิต โดยเฉพาะโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) ซึ่งเชื้อโรคอาจปนเปื้อนอยู่ในพื้นดินที่เฉอะแฉะ หรือมีแอ่งน้ำขัง เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆ ที่ขาและเท้า 
 
          นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า  ขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยของร่างกาย สวมรองเท้าบู๊ท หลังลุยน้ำย่ำโคลนให้รีบล้างทำความสะอาด หากมีไข้และมีอาการสำคัญของโรคฉี่หนูคือ ไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ตาแดงทั้ง 2 ข้าง ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลนด้วยทุกครั้ง โรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาโรคนี้ แต่หากปล่อยไว้จนอาการหนัก เชื้อโรคลุกลามทำลายอวัยวะภายใน เช่น ไต ปอด และอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาในปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 กันยายน พบผู้ป่วย 1,941 ราย เสียชีวิต 40 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ศรีสะเกษ ตรัง กระบี่ พังงา และนครศรีธรรมราช  
 
                                                    *************************************************  19 กันยายน 2560


   
   


View 21    19/09/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ