ศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และการสาธารณสุข   เพิ่มบุคลากรการแพทย์ดูแลประชาชนที่เดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงวันละ  60,000 – 70,000 คน แนะประชาชนเตรียมพร้อมร่างกายและอุปกรณ์ป้องกันความร้อน ผู้สุงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังพกยาประจำตัว ข้อมูลส่วนตัว อาทิ ประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว เบอร์โทรติดต่อญาติ ติดตัวไว้ตลอดเวลา  
 
            วันนี้ (28 กันยายน 2560) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่สำนักพระราชวังได้ประกาศเลื่อนกำหนดวันสุดท้ายของการกราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นวันที่ 5 ตุลาคม 2560 รัฐบาลได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดูแลประชาชนที่เดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง และบริเวณสนามหลวงอย่างดีที่สุด โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพเพิ่มขึ้น มีจำนวนประมาณ 60,000 – 70,000 คนต่อวัน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และสาธารณสุข จึงได้ปรับแผนในการให้บริการ โดยเพิ่มบุคลากรการแพทย์ และปรับเวลาในการปฏิบัติงานเป็น 2 ผลัด รวมทั้งการประสานส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยแพทย์ไปยังโรงพยาบาล เพื่อให้การดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยทั่วไป หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มที่  
 
        นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทั้งร้อนอบอ้าว แดดแรง  ฝนตก ประกอบกับช่วงนี้มีประชาชนเดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพฯ เป็นจำนวนมาก จึงขอแนะนำให้มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมหมวก พัด อาหารแห้ง น้ำดื่มหรือภาชนะสำหรับเติมน้ำ ผู้มีโรคประจำตัวควรพกยาประจำตัว ผู้สูงอายุหรือประชาชนที่เดินทางมาคนเดียว ควรเขียนชื่อ สกุล รายละเอียดประวัติการแพ้ยาหรือโรคประจำตัว โรงพยาบาลที่รักษา เก็บติดตัวไว้ตลอดเวลา พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อญาติ เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลหากเป็นลมหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งนี้ สามารถรับบริการทางการแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลสนามกองทัพบกบริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ (ตรงข้ามเจดีย์ขาว) หน่วยแพทย์ที่หน้าศาลหลักเมือง และในพระบรมมหาราชวัง หรือโทรสายด่วน 1669, 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
           ด้านนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะผู้ควบคุมศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และการสาธารณสุข ฯ ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรสาธารณประโยชน์ 31 แห่ง  ได้ร่วมกันปฏิบัติงานดูแลผู้เจ็บป่วยตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 จนถึง 27 กันยายน 2560 ให้บริการประชาชนรวมทั้งสิ้น 3,594,679 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 97 เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นลมจากอากาศร้อน อ่อนเพลีย และตรวจโรครักษาทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น นำส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาล 1,250 คน และตรวจประเมินสุขภาพทางจิตโดยทีมสุขภาพจิต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) รวม 5,425 คน  
 
                                                                                  **************************  28 กันยายน 2560


   
   


View 23    28/09/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ