กระทรวงสาธารณสุข ประชุมวิดีโอทางไกลกับศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ซักซ้อมความพร้อมทีมแพทย์และทีมจิตอาสาเฉพาะกิจด้านการแพทย์ ดูแลประชาชนในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วันนี้ (12 ตุลาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้บัญชาเหตุการณ์ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Operation Center : OC) กระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ประชุมวิดีโอทางไกลกับศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนภูมิภาค กำชับให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมใน 2 เรื่อง ดังนี้  1.การดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  โดยให้ทุกจังหวัดจัดบริการประชาชนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตามแผนที่วางไว้  ทั้งความพร้อมบุคลากรด้านการแพทย์ แพทย์เฉพาะทาง ยาเวชภัณฑ์ ทรัพยากรด้านการแพทย์ ทีมปฏิบัติการ เช่น ทีมแพทย์ประจำจุดพระราชพิธี ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ทีมสุขภาพจิต ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม การสำรองเตียงรับผู้ป่วย รถพยาบาล โรงพยาบาลรับ-ส่งต่อ โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ

 

ในส่วนการจัดเตรียมทีมจิตอาสาเฉพาะกิจด้านการแพทย์  มีประมาณ 3.7 แสนคน ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นหัวหน้าทีมพร้อมทั้งจัดอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพ และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ตามคู่มือปฐมพยาบาลสำหรับประชาชน ฯ เตรียมยา เวชภัณฑ์ให้เพียงพอกับการปฏิบัติงานโดยให้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ ในระหว่างการปฏิบัติงานให้บุคลากรสาธารณสุขแสดงตนให้  ชัดเจน แต่งกายชุดปกติของแต่ละวิชาชีพหรือชุดสุภาพแสดงสัญลักษณ์การไว้ทุกข์ และสวมปลอกแขนสีขาวมีกากบาทสีเขียว 

      “ ขณะนี้ได้รับรายงานว่าทุกพื้นที่ได้มีแผนเตรียมการรองรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรณีประชาชนที่ร่วมพิธีฯ เกิดภาวะเศร้าโศกร่วมแสดงความอาลัย อาจมีการแสดงอาการทางร่างกายได้หลายอย่าง  ให้ทุกจังหวัดจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข และจิตอาสาเฉพาะทางการแพทย์เพิ่มเติม เรื่องการปฐมพยาบาลจิตใจ เพื่อให้บริการเชิงรุกค้นหา ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเพื่อให้การดูแลทันที  โดยใช้แนวทาง เปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลัง ในการดูแลด้านด้านจิตใจ” นายแพทย์โอภาสกล่าว

         ทั้งนี้  ขอให้ประชาชนที่จะเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ เตรียมร่างกายให้พร้อม ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมหมวก ร่ม พัด อาหารแห้งและน้ำดื่มหรือภาชนะสำหรับเติมน้ำ ผู้ที่มีโรคประจำตัวให้พกยาประจำตัวไว้ตลอดเวลา ในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่เดินทางคนเดียว ขอให้เขียนชื่อ-สกุล ประวัติการแพ้ยาหรือโรคประจำตัว โรงพยาบาลที่รักษาประจำ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อญาติเก็บติดตัวไว้เสมอ เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน

        เรื่องที่ 2 การบริหารจัดการดูแลสุขภาพประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งขณะนี้มี 5 จังหวัด คือ ลพบุรี กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ให้ทุกจังหวัดติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมและซักซ้อมแผนทั้งการป้องกันน้ำท่วม การย้ายจุดบริการ การอพยพผู้ป่วย และการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลประชาชน เตรียมยา เวชภัณฑ์ พร้อมให้การดูแลผู้ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

                                                    ****************************************  12 ตุลาคม 2560

 



   
   


View 26    12/10/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ