“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำรองยาและเวชภัณฑ์ 2 แสนชุด และให้20 โรงพยาบาลเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำ รักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกกระทรวงให้สัมภาษณ์ว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 9-15 ตุลาคม 2560 ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ น พ. เจษฎา โชคดำรงสุขปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำรองยาและเวชภัณฑ์ 2 แสนชุด และให้สถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์ด้านอุทกภัย อย่างใกล้ชิด สำหรับโรงพยาบาลใน 20 จังหวัด ที่เสี่ยง ได้แก่ 1.อุบลราชธานี2.ร้อยเอ็ด 3.พระนครศรีอยุธยา 4.พิษณุโลก 5.ชัยภูมิ 6.ลพบุรี 7.สุโขทัย 8.อ่างทอง9.ชลบุรี 10.พิจิตร 11.ตาก12.เชียงใหม่ 13.ขอนแก่น 14.สุพรรณบุรี 15.อุทัยธานี 16.ชัยนาท 17.กำแพงเพชร 18.นครสวรรค์ 19.สิงห์บุรี 20. พะเยา ขณะนี้มีรพ.สต.ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ รพ.สต.ชี้น้ำร้าย 1 และรพสต.ชีน้ำร้าย 2 อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ปิดให้บริการ ส่วน รพ.สต.ทับยา เปิดให้บริการ ณ บริเวณเทศบาลตำบลทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่าให้โรงพยาบาลเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น และดำเนินการดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อประสานงานและติดตามสถานการณ์2.เตรียมทีมดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเชิงรุกแก่ผู้ประสบภัยโดยให้บริการสนับสนุนทรัพยากร ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ 3.ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ประสบภัย เตรียมจุดบริการนอกโรงพยาบาล หากประชาชนไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ ให้จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่นั้นๆ และเตรียมทีมหมอครอบครัวติดตามกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ได้รับการดูแลไม่ให้ขาดยา รวมถึงการดูแลฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วม หากพื้นที่ใดต้องการยา เวชภัณฑ์ สิ่งสนับสนุนแจ้งกองสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ซึ่งสามารถนำส่งได้ทันที
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมักมีปัญหาสุขภาพอนามัย ตามมา เพราะกระแสน้ำจะพาให้สิ่งสกปรก/เชื้อโรคแพร่กระจาย แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน อาจเกิดโรคระบาดได้ง่าย เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู ไข้หวัด โรคตาแดง สัตว์มีพิษและของมีคม รวมถึงการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟดูด ไฟช็อต อีกด้วย จึงขอให้ประชาชนได้ระมัดระวังและดูแลสุขภาพโดยสวมใส่เสื้อผ้า ที่สะอาด ไม่เปียกชื้นเพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หากมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้นอนพักสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์หรือรพ.สต.ใกล้บ้าน หากจำเป็นลุยน้ำ ย่ำโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง แต่หากมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ ท้องเสีย ให้รีบพบแพทย์ทันที นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ป้องกันยุงกัด อย่าลงเล่นน้ำในบริเวณน้ำลึกและเชี่ยว เก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษและอุบัติเหตุจากของมีคม หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
****************************14 ตุลาคม 60