กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา คาดว่าจะมีประชาชน และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ถึง 13 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมาย เพื่อประชาชนสุขภาพดี โรงพยาบาลมีคุณภาพ นักท่องเที่ยวเข้าถึงบริการ สร้างรายได้ และชื่อเสียง ให้ประเทศชาติ

วันนี้ (17 ตุลาคม 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์  ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเขตสุขภาพที่ 6 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนพัฒนาด้านสาธารณสุข รองรับนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ.2560-2564 (Eastern Economic Corridor : EEC) ของรัฐบาล ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ          ของประเทศ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีด้านอุสาหกรรมและการท่องเที่ยวรวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน  ซึ่งคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีประชาชน คนวัยทำงาน และนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2.8 ล้านคน เป็น 13 ล้านคน

นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีแผนรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก ในระยะ 3 ปีแรก (ปี 2560-2562) เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศักยภาพการให้บริการด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เป็นเลิศสอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมในพื้นที่  นอกจากนี้ ได้วางแผนและบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าว โดยยกระดับขีดความสามารถ เพิ่มจำนวนเตียง เพิ่มห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยหนัก ไอซียูทารกแรกเกิด ยูนิตสำหรับผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก พัฒนาคุณภาพมาตรฐานห้องอุบัติเหตุและระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แผนจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัยที่ครอบคลุม ทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล มีแผนรองรับสถานการณ์การระเบิด/รั่วของสารเคมี รังสี น้ำมัน พัฒนาคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ระบบบริการปฐมภูมิ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค อนามัยสิ่งแวดล้อมและป้องกันภัยคุกคามอื่นๆ รวมทั้งการผลิตและฝึกอบรมบุคลากรสาขาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมอาทิ แพทย์ประจำบ้านสาขาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม พยาบาลเฉพาะทางอาชีวอนามัย เป็นต้น

          นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันวางแผนรองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Hub) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) สร้างโรงพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในเขตอุตสาหกรรม หรือเมืองใหม่ ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่น ทันตกรรม ความงาม ห้องปฏิบัติการ การเชิญชวนโรงเรียนแพทย์ ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาจัดตั้งในพื้นที่ สนับสนุนและกำกับมาตรฐานของธุรกิจบริการสุขภาพ                เช่น โรงพยาบาลเอกชน สปา เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระยะยาว (Long Stay for Health) ให้ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล   

******************** 17  ตุลาคม 2560

 



   
   


View 32    17/10/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ