ไทยจัดประชุมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวโลก ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ปี ค.ศ.2017 เตรียมผลิตแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เข้าร่วมทีม “คลินิกหมอครอบครัว” ให้ได้ 6,500 ทีม ในปี 2569 ดูแลประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศ
 
          วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2560 ) ณ โรงแรม รอยัลคลิฟ โฮเทล กรุ๊ป พัทยา จังหวัดชลบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเปิดการประชุมวิชาการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ปี ค.ศ.2017 (WONCA APRC 2017) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งหมดกว่า 800 คน ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานด้านแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจากภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ประเทศในแถบยุโรป อเมริกา และทีมหมอครอบครัวจากประเทศไทย ซึ่งการประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจากทั่วเอเชียและทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายแพทย์ที่สำคัญ และเป็นการแสดงผลงานจากวิจัยทั้งด้านการแพทย์ปฐมภูมิและเวชศาสตร์ครอบครัวมากกว่า 150 รายการ 

 
          ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพภาครัฐที่มีคุณภาพ ดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยทุกช่วงวัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (พ.ศ.2560-2569)” รองรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยโครงการคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหสาขาวิชาชีพ ดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัยแบบองค์รวม บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นการจัดแพทย์ลงสู่ตำบล เพื่อให้คนไทยมีความรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้  
          ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว มี 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.พัฒนารูปแบบโครงสร้างและการจัดบริการปฐมภูมิ ตั้งเป้าสร้างทีมหมอครอบครัว 3,250 ทีมในปี 2565 และครอบคลุมทุกครอบครัว 6,500 ทีมในปี 2569 2.พัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนและทีมสุขภาพ ผลิตและอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว 6,500 คนทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ 3.พัฒนาระบบสนับสนุนการพัฒนากลุ่มเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ทั้งด้านการเงินการคลัง ยาและเวชภัณฑ์ ข้อมูลสารสนเทศ และ 4.ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และการอภิบาลระบบ โดยจัดทำกฎหมายการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ สร้างการมีส่วนร่วมภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ จัดตั้งหน่วยงานระดับกองสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ผลที่ประชาชนจะได้รับทันที จากนโยบายนี้ คือลดการใช้บริการที่โรงพยาบาลได้ร้อยละ 60 ลดระยะเวลารอคอยรับบริการในโรงพยาบาลใหญ่จาก 172 นาที เหลือ 44 นาที ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป รพ.ประมาณ 1,500 บาท เป็นต้น ในภาพรวมจะส่งผลดี ลดค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนกว่า 140,000 ล้านบาทใน 10 ปี
********************************* 1 พฤศจิกายน 2560
 
 
 


   
   


View 31    01/11/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ