กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่ารับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยหรือไม่ทราบสาเหตุการตาย เสี่ยงติดเชื้อโรค แนะกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆจะดีที่สุด

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงให้สัมภาษณ์ว่าได้รับรายงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2จังหวัดพิษณุโลกว่า พบผู้ป่วยชายเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จังหวัดตาก หลังจากรับประทานเนื้อแพะที่ตายแล้วจากประเทศเพื่อนบ้าน ทีมแพทย์ที่รักษาวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่า อาจป่วยเป็นโรคแอนแทรซ์ ขณะนี้ได้ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฎิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วอยู่ระหว่างรอผลยืนยัน สำหรับในประเทศไทยไม่พบโรคนี้มากว่าสิบปี และได้กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดเข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยบูรณาการทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์เน้นหนักพื้นที่ที่เคยพบโรค อย่างเข้มข้น เตือนประชาชนไม่นำสัตว์ที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุการตาย มาปรุงอาหาร อาจเสี่ยงติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ได้

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า ขอประชาชน ไม่นำสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้ว มาชำแหละจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ขอให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสซากสัตว์ หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายหรือหากป่วยโดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ตายหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมแจงประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเดินทาง โรคนี้มียารักษาหากเจ็บป่วยหลังสัมผัสสัตว์ให้รีบพบแพทย์ทันที หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

อาการของโรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น  สุนัข แมว สุกร เชื้อโรคนี้สามารถเข้าร่างกายได้สามทางคือ การสัมผัสทางผิวหนัง  การสูดดมหรือการหายใจ และการกิน โดยพบการติดเชื้อได้ทางผิวหนังได้บ่อยที่สุด สำหรับอาการของโรคที่พบบ่อยๆคือ จะเกิดเป็นตุ่มแดงๆตรงที่รับเชื้อเช่น มือ แขน ขา ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ  อาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำและเสียชีวิต

นอกจากนี้ให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการของสัตว์ที่เลี้ยงไว้ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่  เช่นไม่กินหญ้า  มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก หรือมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดมีเลือดออกทางปาก จมูก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำๆ ไม่แข็งตัวอาจพบอาการดังกล่าวให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้บ้านท่านทันที

                                                                      ********************************** 26 พฤศจิกายน 2560

 

 

 

 

 



   
   


View 28    28/11/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ