กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมโรคแอนแทรกซ์ให้ผู้สัมผัสโรคทุกคนกินยาป้องกัน 60 วัน ทุกคนปกติ ส่วนผู้ป่วยชาย 2 รายมีตุ่มหนองที่ผิวหนัง อาการไม่รุนแรง ให้ยารักษาและดูแลในโรงพยาบาลจนกว่าตุ่มหนองจะหาย ชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่สามารถตรวจพบ ควบคุม จำกัดวงการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วย้ำโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งปศุสัตว์ ในประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีพบผู้ป่วยชายซึ่งเป็นผู้ชำแหละแพะที่ตายแล้วสงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ว่า ในวันนี้ ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบเชื้อบาซิลลัส แอนทราซิส(Bacillus anthracis)    ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคแอนแทรกซ์ในผู้ป่วย 2 ราย มาด้วยอาการมีตุ่มหนองที่มือทั้ง 2 ข้าง ขณะนี้ ได้รับยารักษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าตุ่มหนองจะหาย

สำหรับการควบคุมป้องกันโรค ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 ได้ติดตามประชาชนในหมู่บ้านที่รับประทานเนื้อแพะ และผู้สัมผัสโรคในหมู่บ้าน บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ จำนวน 247 คน ได้ให้ยารับประทานเพื่อป้องกันต่อเนื่อง 60 วัน และติดตามเฝ้าระวังโรค ขณะนี้ ทุกคนปกติ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และการป้องกันตัว แจกแผ่นพับภาษาไทยและภาษาพม่า และทำประชาคมสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในหมู่บ้าน โดยให้สังเกตอาการ เช่น ผิวหนังมีตุ่มหนอง มีแผลหรือฝ้าขาวในปาก ลำคอ ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

“ขอชื่นชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทีมแพทย์ที่ตรวจพบและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถจำกัดวงของการแพร่ระบาดได้ และขอย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หากพบแพทย์เร็วรักษาให้หายขาดได้ และในประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์ อย่างไรก็ตาม อย่านำสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้ว มาชำแหละจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ขอให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสซากสัตว์

หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายหรือหากป่วยโดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ตายหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมแจงประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเดินทาง โรคนี้มียารักษาหากเจ็บป่วยหลังสัมผัสสัตว์ให้รีบพบแพทย์ทันที

********************************  28พฤศจิกายน 2560

 

 

 


 



   
   


View 24    28/11/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ