เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชื่นชม 3 ผลงานเด่นเขตสุขภาพที่ 2 สามรถนำไปประยุกต์ใช้และเป็นต้นแบบการดำเนินงานในหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งสู่ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ที่ โรงพยาบาลสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

แพทย์หญิงมยุรากล่าวว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง มีระบบส่งต่อภายในเครือข่าย เกิดการดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้สโลแกน “บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”

แพทย์หญิงมยุรา กล่าวต่อว่า เขตสุขภาพที่ 2 ได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่เป็นการดำเนินงานที่น่าชื่นชม 3 เรื่องได้แก่ 1.แฮปปี้มันนี่ ของโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ปัญหาการเงินเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่เป็นหนี้นอกระบบ โดยเปิดรับเจ้าหน้าที่ที่เป็นหนี้เข้ารับการอบรมปรับทัศนคติเกี่ยวกับการเงิน ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย จัดตั้งคลินิกการเงินจัดการหนี้สร้างวินัยการเงินการออม และปลดหนี้นอกระบบให้ผู้ที่ผ่านการประเมินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ให้ผ่อนจ่ายคืนในอัตราที่เหมาะสม ผลการดำเนินงานพบว่าเจ้าหน้าที่มีความสุขขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น ไม่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 2.โรงพยาบาลสร้างสุขโดยเขตสุขภาพที่ 2 ดำเนินการไปแล้ว2 โรงพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยโรงพยาบาลคำนึงถึงผู้รับบริการและตัวผู้ปฏิบัติ ให้เจ้าหน้าที่ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆอาทิ การสื่อสารอย่างสันติ การพัฒนาจิตใจให้เป็นวิถีเพื่อไปใช้ในชีวิตประจำวันมีการจัดกิจกรรมเช่น สร้างสุขก่อนเริ่มงาน สุขสำราญก่อนกลับบ้าน ประชุมแบบมีส่วนร่วม ป้ายเตือนสติ เป็นต้น ผลการดำเนินงานทำให้ผู้มารับบริการพึงพอใจมากขึ้น จำนวนร้องเรียนน้อยลง ได้รับคำชื่นชมจากผู้รับบริการทั้งต่อหน้าและทางสื่อออนไลน์

3.โครงการพัฒนาคุณภาพระบบข้อมูลและสารสนเทศงานอุบัติเหตุ จังหวัดสุโขทัย โดยใช้โปรแกรม(JOC2016)จัดเก็บและบันทึกข้อมูลอุบัติเหตุที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น สามารถกรอกข้อมูลในระบบได้รวดเร็วและคล่องตัว นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและจุดที่เกิดเหตุมาแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้เขตสุขภาพที่ 2 ยังมีการพัฒนาด้านเชิงระบบการจัดการ เช่น การทำแผนการลงทุนระยะยาว แผนการจัดการกำลังคนระยะยาวทั้งเขตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการทำงานมีการดำเนินงานคัดกรองผู้ป่วยไตวายเพื่อป้องกันและชะลอการป่วยไตวายเรื้อรัง การคัดกรองและผ่าตัดต้อกระจกป้องกันการตาบอดป้องกันและลดการเสียชีวิตทารกแรกเกิด เป็นต้น

                                                                     ********************************** 10 ธันวาคม 2560

 

 

 

 

 

 

 

 



   
   


View 31    12/12/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ