กระทรวงสาธารณสุข จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล สภาวิจัยแห่งชาติ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดทำฐานข้อมูลยาและระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล ง่ายต่อการใช้งานและบริหารจัดการ ลดต้นทุนยาและเวชภัณฑ์ในประเทศ รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
วันนี้ (14 ธันวาคม 2560) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ( เพิ่มเติม) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม เรื่อง “การศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบ และพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ และแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ด้านสาธารณสุข รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย” ซึ่งเดิมมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.),มหาวิทยาลัยมหิดลและสภาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)พร้อมแถลงผลการวิจัยเรื่อง “ฐานข้อมูลยาและระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล” ที่ได้นำร่องศึกษาวิจัยที่โรงพยาบาลสมุทรสาครและโรงพยาบาลสิงห์บุรี
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ 5 หน่วยงานศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านสาธารณสุข สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยนำระบบคลังยาและเวชภัณฑ์ทั้งโซ่อุปทานหรือเครือข่ายโลจิสติกส์ มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัย ในปีแรกนำร่องวิจัย ด้านฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ ระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า 1.การจัดทำ “ฐานข้อมูลยา NMPCD” (National Medicinal Product Catalogue Database) เพื่อรองรับรหัสยาในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้รหัสยามากกว่า 1 รหัส ตามวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป เช่น เลขทะเบียนยา ตาม พรบ.ยา พ.ศ.2510 ,รหัสยา 24 หลัก ,บาร์โค๊ด ,TMT เพื่อการเบิกจ่ายและรวบรวมสถิติในการใช้ยา เป็นต้น ซึ่งการใช้รหัสยาทุกรหัสประกอบการสร้างฐานข้อมูลยา NMPCD ที่สามารถสะสมรหัสยาทุกรหัสได้มากถึง 25,000 รายการ ช่วยให้มีรหัสยาพร้อมข้อมูลยาและโครงสร้างต่อยอดสำหรับระบบสารสนเทศของประเทศไทย ที่สำคัญคือทุกรหัสยาใช้ได้เหมือนเดิม ไม่มีต้นทุนในการปรับโครงสร้าง โดยมีเภสัชกรที่ทำงานในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมเภสัชกรโรงพยาบาลดูแลกว่า 5,000 คน
2.การพัฒนาระบบโปรแกรมบริหารคลังยาและเวชภัณฑ์ MMIS (Marital Management Information System) เป็นเครื่องมือช่วยจัดการระบบโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ รองรับโปรแกรมบริหารคลังยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลในประเทศมีหลากหลายระบบ ส่งผลต่อการประมวลผลภาพรวมของประเทศ ซึ่งมูลค่ายาของประเทศไทยในปี 2559 จำนวน 162,917 ล้านบาท เป็นต้นทุนด้านโลจิสติกส์ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์หรือ 29,325 ล้านบาท หากนำโปรแกรมบริหารคลังยาและเวชภัณฑ์ MMIS มาใช้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้
สำหรับแผนการดำเนินการในปี 2561-2562 ตั้งเป้าวิจัยและพัฒนา ใน 4 ด้านคือ การสร้างการเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรมการติดตามและสอบย้อนกลับ สร้างระบบรวมศูนย์ข้อมูลและประมวลผล และระบบโลจิสติกส์สุขภาพดิจิทัล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ประสานงานหลัก
************************ 14 ธันวาคม 2560
************************************