“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข มอบของขวัญปีใหม่บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ ด้วยแผนสร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน 5 โครงการใหญ่ เป็นขวัญกำลังใจต่อการปฏิบัติงาน เกิดการบริการที่ดี มีคุณภาพ เจ้าหน้าที่สุขใจ
วันนี้ (4 มกราคม 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบาย “แผนงานสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข” และเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในโครงการคลินิกสุขภาพทางการเงินและความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของบุคลากร ก่อนการประชุมผู้บริหารระดับสูงประจำเดือนมกราคม 2561
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจดัชนีความสุข (Happinometer) บุคลากรในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาองค์กร การบริหารงาน การดำเนินการต่าง ๆ ส่งเสริมความสุขในการทำงานอย่างตรงประเด็น ซึ่งจะส่งผลให้บุคลากรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มขึ้น มีขวัญกำลังใจต่อการปฏิบัติงาน เกิดการบริการที่ดี มีคุณภาพ ช่วยให้บรรลุเป้าหมายร่วมขององค์กร“ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” สนองต่อนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นพัฒนาประเทศ สู่ไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข)
ในการสำรวจดัชนีความสุขของคนทำงาน ได้สำรวจความรู้สึกมีความสุขใน 11 มิติ ได้แก่ 1.สุขภาพกายดี 2.ผ่อนคลายดี 3.น้ำใจดี 4.จิตวิญญาณดี 5.ครอบครัวดี 6.สังคมดี 7.ใฝ่รู้ดี 8.สุขภาพการเงินดี 9.การงานดี 10.ความผูกพัน 11.สมดุลชีวิตกับการทำงาน ผลการสำรวจความรู้สึกมีความสุขของบุคลากร 298,793 คน พบว่าค่าคะแนนความสุขของบุคลากรร้อยละ 92 มีความรู้สึกมีความสุข โดยมิติที่มีค่าเฉลี่ยความสุขค่อนข้างน้อยคือ มิติด้านสุขภาพการเงินดี ได้สำรวจเพิ่มเติมด้านสุขภาพการเงินบุคลากร 97,567 คน พบมีหนี้สินในครัวเรือนวงเงินกว่า 95,957 ล้านบาท ร้อยละ 54 เป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ รองลงมาร้อยละ 26 เป็นหนี้สินเรื่องที่อยู่อาศัย
กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีแผนสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินสำหรับบุคลากร (Happy Money Program) 5 โครงการ ได้แก่ คลินิกสุขภาพทางการเงิน (Happy Money Clinic) ส่งเสริมการออม (Happy Saving) ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของบุคลากร (Happy Home) การประนอมหนี้สิน (Happy Redeeming) และสวัสดิการอื่น ๆ (Happy Welfares) โดยได้ตั้งคณะกรรมการแผนสร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน เพื่อพิจารณากลั่นกรองบุคลากรเข้าร่วมโครงการพร้อมวางหลักเกณฑ์ เงื่อนไข จัดทำหลักสูตรการสร้างวินัยทางการเงิน และบริหารจัดการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนสร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน
ในระยะแรกระหว่าง พ.ศ.2561-2563 จะดำเนินการใน 2 โครงการได้แก่ คลินิกสุขภาพทางการเงินและความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของบุคลากร ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ มอบสิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าลูกค้าทั่วไป ฟรีค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ค่าจดจำนอง ค่าจัดการเงินกู้ ระยะเวลากู้นาน 30 ปี เป็นต้น โดยจะเปิดตัวโครงการความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของบุคลากร (Happy Home) พร้อมกันทั่วประเทศ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/ โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ในวันที่ 10 มกราคม 2561 และจัดทำคลินิกสุขภาพทางการเงิน ในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเว้นเดือน คาดว่าจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายบุคลากรได้ 1,500 ล้านบาทต่อปี
ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในนามของธนาคารไทยพาณิชย์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โอกาสธนาคารฯ เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการสำคัญ “โครงการสร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน (Happy Money Program)” ที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคลากรในสังกัดกระทรวง ตลอดจนผู้ที่มาใช้บริการด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ ความร่วมมือครั้งนี้มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มจากการร่วมเสริมสร้างสุขภาพทางการเงินของบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความมั่นคงในการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมไปถึงการมอบองค์ความรู้ด้านการเงินที่รอบด้าน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้บุคลากรของกระทรวงฯ สามารถวางแผนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“โครงการความร่วมมือ “สร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน” (Happy Money Program) ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาระบบการรับชำระเงินภายในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงฯ ทุกแห่ง ให้มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้เงินสด และเป็นไปในรูปแบบของ e-Payment มากยิ่งขึ้น เช่น การรับชำระเงินผ่าน QR Code ที่ในอีกไม่ช้าจะกลายเป็นมาตรฐานของการชำระเงินทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society อันเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0” นายอาทิตย์กล่าวเสริม
******************************* 4 มกราคม 2561