กระทรวงสาธารณสุข จัดส่งนักจิตวิทยาประจำการใน 37 อำเภอของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้การเยียวยาทางจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เผยผลสำรวจสุขภาพจิตประชาชนพบขณะนี้ร้อยละ 20 มีปัญหาสุขภาพจิต อยู่ในขั้นรุนแรง ซึมเศร้า ฝันร้าย เปิดสายด่วน 1323และ 1667 บริการปรึกษาสุขภาพจิตทั้งภาษาไทยและมาลายูท้องถิ่น ส่วนลูกจ้างโรงพยาบาลยะลาที่ถูกยิง 2 ราย วันนี้ ได้รับการช่วยเหลือ 20,000-30,000 บาท วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงแรมบีพี สมิหลา จังหวัดสงขลา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาจำนวน 74 คนและพยาบาลพี่เลี้ยงจำนวน 40 คน ที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต 4 จังหวัดชายแดนใต้ ว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมสุขภาพจิตจัดตั้งศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตในทุกอำเภอรวม 37 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้คือยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา พร้อมได้จัดอบรมนักจิตวิทยา จำนวน 74 คน เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ประจำการให้บริการดูแลสุขภาพจิตประชาชนโดยเฉพาะครอบครัวผู้ได้รับความสูญเสียและบาดเจ็บที่มีประมาณ 5,000 ครอบครัว สามารถประเมินปัญหาและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนได้ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากการคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา พบว่าประชาชนร้อยละ 80 มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ในระดับน้อย ถึงระดับปานกลาง โดยมีร้อยละ 20 ที่รับผลกระทบอยู่ในขั้นรุนแรงเช่นมีอาการซึมเศร้า มีบาดแผลทางใจจากเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวหรือพีทีเอสดี (PTSD ; Post Traumatic Stress Disorder) มีอาการฝันร้ายถึงเหตุการณ์ที่ประสบมาและตื่นกลัว ต้องได้รับเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชื่นชมนักจิตวิทยาที่ทำงานในศูนย์ฟื้นฟูเยียวยาด้านสุขภาพจิตในทุกอำเภอว่าสามารถทำงานกับประชาชนได้เป็นอย่างดีและเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ในโอกาสนี้จึงอยากให้นักจิตวิทยาทำความดีเพื่อแผ่นดิน ทำงานโดยยึดหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเป็นแนวทาง ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า นักจิตวิทยาจะดูแลผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นรายครอบครัวและรายบุคคล พร้อมทั้งกระตุ้นสนับสนุนให้กลุ่มสตรีหม้าย จัดตั้งกลุ่มขึ้นทำกิจกรรม แลกเปลี่ยน ให้กำลังใจร่วมกับทีมงานสุขภาพจิตในพื้นที่ ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงได้ร้อยละ 80 หากอาการรุนแรงจะส่งต่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาด้วยยาจิตบำบัดที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั้ง 5 จังหวัด พร้อมกันนี้ได้มีการส่งเสริมให้นำการปฐมพยาบาลด้านจิตใจมาใช้ควบคู่ไปกับการปฐมพยาบาลด้านร่างกาย นอกจากนี้จะติดตามเยี่ยมบ้านให้กำลังใจหลังออกจากโรงพยาบาลตั้งเป้าไม่น้อยกว่าปีละ 3 ครั้ง ขณะนี้ได้เปิดบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์หมายเลข 1323 และหมายเลข 1667 มีทั้งภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่น สำหรับการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยะลาที่ถูกลอบทำร้ายเมื่อเช้าวันนี้ (16 พฤศจิกายน 2550) 2 ราย ได้แก่ นายนิมิตรชัย อินทร์เล็ก อายุ 33 ปี ลูกจ้างชั่วคราว ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อเวลา 07.00 น. กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การช่วยเหลือครอบครัว 30,000 บาท ส่วนนางรุ่งฤดี หมอเล็ก อายุ 33 ปี ลูกจ้างชั่วคราว ที่ถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสรักษาตัวที่ห้องไอซียูที่โรงพยาบาลยะลา ขณะนี้อาการปลอดภัย แพทย์ใส่ท่อระบายเลือดที่ปอด เลือดหยุดออกแล้ว ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท นายแพทย์พิพัฒน์กล่าว พฤศจิกายน .................................. 16 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 10    16/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ